ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.56-34.63 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสในหลายประเทศ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าเงินบาท ณ สิ้นปี ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ปิดทำการเนื่องในวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส ทั้งนี้ สัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเล็กน้อย สะท้อนว่า บรรยากาศในตลาดการเงินอาจยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงในช่วงนี้ได้
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% ท่ามกลางแรงขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า จากความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อนึ่ง ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรป ผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Ferrari -2.5%, Kering -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ระดับ 3.90% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีการประมูลบอนด์อายุ 2 ปี, 5 ปี และ 7 ปี โดยผลการประมูลบอนด์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้เช่นกัน ทำให้เรายังคงประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน แนวโน้มบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากทิศทางสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจกดดันให้เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideway หรือ อ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเราประเมินว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.8 จุด อนึ่ง จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล พบว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากสัญญาณ RSI Bullish Divergence ทั้งใน Time Frame Day, H4 เป็นต้น ทำให้ต้องจับตามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมา “ปิดรับความเสี่ยง” หรือไม่ รวมถึง บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น หลังรับรู้ผลการประมูลบอนด์หรือไม่ เช่นกัน ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรทองคำในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาส อาจยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นผ่านโซนแนวต้าน 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ง่ายนัก ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล พบว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway หรืออาจทยอยปรับตัวขึ้นต่อ ทดสอบโซนแนวต้านได้อีกครั้ง ซึ่งหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านได้อีกรอบ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติมและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและสำคัญอาจมีไม่มากนัก โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประมูลบอนด์ 2 ปี สหรัฐฯ ในช่วงเวลาราว 1.00 น. ของเช้าวันพุธที่ 27 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ตลาดการเงินฝั่งยุโรป จะยังคงปิดทำการเนื่องในวันหยุด Boxing Day ทำให้ ปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงต่อเนื่อง และควรที่ผู้เล่นในตลาดจะเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับเป้าสิ้นปีของเราที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ถึงจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของเงินบาท อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควร นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังเป็นฝั่งทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อได้ แต่แรงขายอาจลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าพอสมควร โดยแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงระหว่างวัน ก็มีโอกาสทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่โดยรวมเงินบาทก็จะยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากดดัน ส่วนโซนแนวรับ ยังคงเป็นช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาด อาทิ บรรดาผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย