หญิงไทยตั้งครรภ์ใช้สิทธิบัตรทองเกินเป้า ปี 2566 ฝากครรภ์ 4.93 แสนคน ทะลุ 154.68%
กองทุนบัตรทอง ดูแลสุขภาพคนไทยทุกคนทุกสิทธิ เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมและทั่วถึง เผยผลบริการปี 2566 หลายรายการเกินเป้า จากที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ อาทิ หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการฝากครรภ์ 4.93 แสนคน ทะลุ 154% บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ 4.6 หมื่นคน เกินเป้า 463.02% เป็นต้น เตรียมวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรครายการที่มีจำนวนรับบริการไม่มาก เพื่อพัฒนาระบบและการบริการให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นสิทธิประโยชน์บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เกิดการบริการเชิงรุก เพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการในรูปแบบการจ่ายค่าบริการตามรายการที่ให้บริการ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีการจ่ายค่าบริการตามรายการที่ให้บริการ จำนวนทั้งสิ้น 22 รายการ โดยมีรายการที่รับบริการเกินเป้าหมาย อาทิ บริการฝากครรภ์ จำนวน 493,918 คน จากเป้าหมาย 319,317 คน หรือคิดเป็น 154.68% บริการตรวจคัดกรองดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 188,167 คน จากเป้าหมาย 182,547 คน หรือคิดเป็น 103.06% บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ จำนวน 46,950 คน จากเป้าหมาย 10,140 คน หรือคิดเป็น 463.02% บริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (Fit test) จำนวน 979,949 คน จากเป้าหมาย 750,076 คน หรือคิดเป็น 130.65% บริการคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง จำนวน 2,107,901 คน จากเป้าหมาย 616,000 คน หรือคิดเป็น 342.24%
บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ จำนวน 6,671,037 คน จากเป้าหมาย 1,949,241 คน หรือคิดเป็น 342.24% บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก จำนวน 325,348 คน จากเป้าหมาย 113,643 คน หรือคิดเป็น 286.29% และบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง จำนวน 3,713,686 คน จากเป้าหมาย 2,910,000 คน หรือคิดเป็น 127.62%
“จากข้อมูลที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการของประชาชน จากสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ของระบบบัตรทองที่มอบให้กับคนไทยทุกคน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริการที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นบริการฝากครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องได้รับการดูแลเพื่อประเมินความเสี่ยง และได้รับการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยบุคลากรสาธารณุสข ส่งผลให้การตั้งครรภ์และให้เด็กไทยเกิดมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ บริการคัดกรองโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข อาทิ โรควัณโรค เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อ บริการเพื่อลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่รักษาให้หายได้หากตรวจคัดกรองพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม นอกจากนี้ยังมีบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ โดยเป็นบริการเร่งค้นหาเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสายตาทำให้ได้รับการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การมีการเรียนรู้ พัฒนาการที่ดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่อยู่ในเกณฑ์การรับบริการที่เป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ บริการคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทยรอยด์ในทารกแรกเกิด บริการตรวจหลังคลอด บริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก บริการวางแผนครอบครัวกึ่งถาวร
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ในบางรายการที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีจำนวนการเข้ารับบริการไม่มากนั้น อาทิเช่น บริการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี บริการคัดกรองธาลัสซีเมีย/ซิฟิลิสในสามี บริการคัดกรองโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกในทารกแรกเกิด บริการตรวจยืนยันมะเร็งช่องปาก บริการคัดกรองยีนกลายพันธุ์มะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) และบริการวางแผนครอบครัว ชนิดชั่วคราว เป็นต้น สปสช. จะมีการดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการและรับบริการของกลุ่มเป้าหมาย และจะมีการหารือกับหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยบริการจัดบริการที่มีคุณภาพตั้งแต่การประเมินสุขภาพ การคัดกรองสุขภาพของประชาชน เมื่อพบกลุ่มเสี่ยงให้การดูแลแก้ไขปรับพฤติกรรม หากเจ็บป่วยได้รับการรักษา ดูแลต่อเนื่อง ประกอบกับการสร้างการรับรู้สิทธิ การเข้ารับบริการยังหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการ ส่งผลต่อประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รับรู้สภาวะสุขภาพและดูแลสุขภาพของตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป
/////17 ธันวาคม 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
- ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
- Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand