นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ปาฐกถาพิเศษบนเวที Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2023 ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำด้านการพัฒนาคนสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาพิเศษบนเวทีด้านความยั่งยืนระดับชาติ Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2023 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติกรุงเทพฯ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำด้านการพัฒนาคนสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน” การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่โลกให้ความสำคัญสูงสุด ซึ่งทุกภาคส่วนในไทยต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผมได้หารือและมอบนโยบายกับเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกในเรื่องนี้และในวันนี้ได้มาร่วมประชุมที่สำคัญนี้ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน
โลก รวมทั้งไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บัดนี้เข้าสู่ภาวะโลกเดือด และ digital disruption ซึ่งส่งผลกระทบความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน ห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อการบรรลุ SDGs ประเทศไทยจึงต้องเร่งขับเคลื่อน SDGs ทุกเป้าหมายเพราะมีความเชื่อมโยงกัน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีหลายมิติทั้งความยากจน และ ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น เราจึงต้องทำงานด้วยกันทุกภาคส่วนแบบ whole-of-government และ whole-of society และต้องส่งเสริมการทำงานในระดับพื้นที่ ที่เรียกว่า SDG localization เพื่อสร้าง impact ที่เป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่และชุมชน และที่สำคัญ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เพราะคนเป็น key drivers ของทุกสิ่ง แม้กระทั่ง AI เพราะคนมีสติปัญญา อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาไทยได้น้อมนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับคนเป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy) ก็เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการสำคัญเหล่านั้น โดยเน้นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ
รัฐบาลได้นำเสนอแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะต่อยอดสิ่งเหล่านี้ต่อไปภายใต้แนวทาง New Growth Path เพื่อตอบโจทย์ Fifth Industrial Revolution โดยประกอบด้วย 3 มิติคือ (1) Green growth (2) Innovation - driven growth และ (3) Community - based growth ซึ่งปัจจัยสำคัญของแนวทางดังกล่าว คือ คนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานในทุกด้าน (human-centered approach) ในมิติแรก Green Growth เราต้องคำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศผ่านการดำเนินการหลายด้าน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการใช้พลังงานจาก fossil และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด และการออก sustainability linked bonds นอกจากนี้ไทยยังส่งเสริมให้ภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับการรับรอง มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและเกณฑ์ต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ เช่น มาตรฐาน ISO 14001 (ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม) ISO 50001 (ระบบจัดการด้านพลังงาน) และ ISO 26000 (มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม)
ในมิติ Innovation-driven Growth เราต้องใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการทำธุรกิจของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ big data เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาความยากจน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการตรวจทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางมาพบแพทย์ การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการภาครัฐ รวมทั้งการสร้างระบบ การเงินบนพื้นฐานของเทคโนโลยี blockchain
สำหรับมิติสุดท้าย Community-based Growth เราต้องตระหนักว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงตัวเลขผลประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการยกระดับแรงงาน การพัฒนากระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ การสร้างงานโดยมีนโยบายด้านแรงงานที่นำไปสู่การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยในระยะต่อไป เราต้องเน้นการพัฒนาในระดับท้องถิ่น (SDG localization) เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วทั้งประเทศ สร้างประโยชน์สำหรับธุรกิจและคน ตลอด supply chain และต้องสร้างความเข้มแข็งหรือ empower คน เพื่อให้คนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและประเทศ นั่นหมายถึงการพัฒนาทักษะทั้ง upskill reskill และ new skills เพื่อพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย ให้มีความคิดสร้างสรรค์และริเริ่มเพื่อตอบโจทย์ creative economy เพื่อเสริมสร้างผลิตภาพของประเทศในภาพรวม โดยมีมาตรการรอบด้าน รวมถึงสุขภาพและสาธารณสุข เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ด้านการศึกษา ภาครัฐเร่งดำเนินการอยู่ เช่น อว. กำลังปฏิรูปการศึกษาแบบองค์รวมเพื่อให้ผู้จบการศึกษาตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ระบบการศึกษาไทยยังต้องปลูกฝัง mind set เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคนและการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง New Growth Path ข้างต้น โดยภาครัฐจะเป็นทั้ง enforcer และ enabler ในเวลาเดียวกัน
ภาครัฐกำลังเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงสนามบิน การริเริ่ม โครงการ Landbridge เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สามารถแข่งขันในเวทีโลก และเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย (FDI) ขยายโอกาสทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ และผลักดันการทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงการดำเนินความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนคุณภาพสูงในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจดิจิทัล
ภาคส่วนอื่น ๆ ก็มีบทบาทและความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างความเติบโตให้กับประเทศ อาทิ ภาคการเงินการธนาคารและตลาดทุน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ชุมชน อาสาสมัคร เยาวชน สื่อมวลชน โดยทุกภาคส่วนล้วนมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น หากทุกภาคส่วนสามารถบูรณาการการทำงานได้มากขึ้น เราก็จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานโดยเน้นการทำงานที่เสริมและเกื้อกูลกัน เพื่อประสิทธิภาพและผลที่เป็นรูปธรรม
บทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะพวกเขาคืออนาคตของเรา และจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมต่อไป รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสให้ เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับผู้นำภาคเอกชน สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติเช่น การวัด carbon footprint ของ องค์กร การสนับสนุนให้ supply chain ในธุรกิจของท่านเป็นธุรกิจสีเขียว การให้โอกาสธุรกิจเล็ก ๆ หรือ entrepreneurs สร้างสรรค์ business model ใหม่ๆ ซึ่งผมขอชื่นชมที่ภาคเอกชนหลายรายได้ริเริ่มดำเนินการเองด้วยความสมัครใจแล้วและขอสนับสนุนให้ดำเนินงานทำต่อไป
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณเครือข่าย Global Compactประเทศไทย อีกครั้ง สำหรับการจัดงานในวันนี้ และขอชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของ Global Compact ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การประกาศเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งการส่งเสริมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และนี่เป็นเหตุผลที่ไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปีค.ศ. 2025-2027 เพื่อให้ไทยได้มีส่วนร่วมกับนานาประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป