10 กันยายน วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก สปสช. ร่วมรณรงค์ดูแลผู้ที่มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย พร้อมแนะใช้ช่องทาง “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” ช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า พร้อมรับการประเมิน คัดกรองอาการ สู่การรักษาและติดตาม ย้ำรับบริการได้ทุกสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้นและประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2546 เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักต่อปัญหาและช่วยกันดูแลป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย
สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายนี้ ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิต พบว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีอัตราสูงที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.97 ต่อ 1 แสนประชากร เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร
ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น อันดับหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 รองลงมาเป็นปัญหาทางสุขภาพกายและภาวะเจ็บป่วย ร้อยละ 20-30 นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากทั้งต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้นที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเพื่อนำไปสู่การป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ที่มีภาวะเสี่ยง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช. มีความตระหนักต่อปัญหาการฆ่าตัวตายนี้เช่นกัน ดังนั้นนอกจากสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลทางกายแล้ว ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ยังมีสิทธิประโยชน์ที่เป็นการดูแลในด้านจิตใจด้วย โดย สปสช. ได้ดำเนินการร่วมกักรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชนทุกสิทธิที่มีภาวะเสี่ยงให้เข้าถึงบริการ “สายด่วน สุขภาพจิต 1323” ผ่านทางโทรศัพท์ได้ โดยได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว
ทั้งนี้ ดำเนินการจะเป็นการให้บริการโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองที่มีศักยภาพการบริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตามมาตรฐานที่กรมสุขภาพจิตกำหนด ซึ่งจะให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง
“การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน ซึ่งผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่มีความเครียด หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้า นอกจากการดูแลโดยคนในครอบครัวและคนรอบข้างแล้ว อยากให้ท่านใช้ช่องทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นี้ เพื่อรับคำปรึกษา โดยบริการนี้จะครอบคลุมทั้งการประเมินอาการและความรุนแรง การให้คำปรึกษา การประสานส่งต่อรักษา และติดตามอาการหลังให้บริการ โดยมีนักจิตวิทยาหรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานการให้บริการของกรมสุขภาพจิต เป็นผู้ให้คำปรึกษา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว