สถาบันยุวทัศน์ฯ – สสส. ชวนคนรุ่นใหม่ผลิตสื่อรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย หลังพบวัยรุ่นตั้งครรภ์ 134 คน/วัน และเกือบครึ่งของผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเป็นเยาวชน ทีมจาก ม.ศรีปทุม-วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ-รร.อยุธยานุสรณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศ เตรียมต่อยอดเป็นสื่อโฆษณาสร้างความตระหนักต่อสังคมทุกช่องทาง
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) จัดประกวดสื่อโฆษณาเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกต่อถุงยางอนามัยในวิถีชีวิตปกติ ภายใต้หัวข้อ “Condom All Gen Enjoy กับถุงยาง” มีนักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 206 ผลงานจากทั่วประเทศ สะท้อนการเปิดกว้างคุยเรื่องสุขภาวะทางเพศของคนในสังคม สถาบันการศึกษาและครอบครัวมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2564 ไทยมีอัตราการคลอดบุตรของหญิงกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 10–19 ปี จำนวน 49,018 คน หรือเฉลี่ยวันละ 134 คน โดยในจำนวนการคลอดดังกล่าว เป็นการคลอดซ้ำถึง 3,660 คน หรือคิดเป็น 7.5% ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลกระทบในหลายมิติ ข้อมูลจากงานวิจัยการวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ของ TDRI พบว่ากลุ่มตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ตั้งครรภ์ (มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกัน) อยู่ 2,811 บาท/คน/เดือน กลุ่มที่ออกจากโรงเรียนถาวรจากการตั้งครรภ์ มีการลดลงของรายได้ 4,582 บาท/คน/เดือน สูงกว่ากลุ่มที่กลับเข้าเรียน ซึ่งลดลงที่ 3,936 บาท/คน/เดือน
“แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่อง การให้คำปรึกษาที่ครอบคลุมสุขภาพกายและใจ และส่งเสริมให้ฝึกอาชีพ หรือจัดหางานให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เพื่อประกอบอาชีพแล้วก็ตาม แต่การป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่นนับเป็นหัวใจสำคัญ ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 99.6 ราย ต่อประชากรกลุ่มอายุ 15- 24 ปี แสนคน ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 106.2 ราย ต่อประชากรกลุ่มอายุ 15 - 24 ปี แสนคน ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งหากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มการเกิดโรคที่สูงขึ้น ก็อาจส่งผลต่อสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีของประเทศที่สูงขึ้นได้” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ดร.ชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารในประเด็นเรื่องเพศ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าเป็นเรื่องที่คุยกันได้ โดยเมื่อต้นปี 2566 มีแคมเปญการสื่อสารรณรงค์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ที่ส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว โดยเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการคุยเรื่องนี้ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการเกิดกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการใช้สื่อเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกต่อถุงยางอนามัย เป็นการกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง และปรับทัศนคติการพกพาและการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่น
นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยท. และ สสส.ร่วมกันพัฒนาแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกต่อถุงยางอนามัยในวิถีชีวิตปกติในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสื่อสารค่านิยมการพกพา หรือการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศกับบุคคลในครอบครัว เนื่องจากปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมา พบว่าการพกพาถุงยางอนามัยของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในสังคมจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ซึ่งทัศนคติดังกล่าวแม้จะลดน้อยลงไป แต่ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยของวัยรุ่นในพื้นที่ชุมชน เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพราะไม่อยากพกไว้ในกระเป๋า เนื่องจากกลัวผู้ปกครองมาพบ หรือไม่กล้าไปขอรับถุงยางอนามัยจากจุดบริการในชุมชนเพราะผู้ปกครองอาจรู้จักกับผู้ให้บริการถุงยางอนามัย และแม้แต่การโดนว่ากล่าวตักเตือนเมื่อพบถุงยางในกระเป๋านักเรียน จึงพัฒนาแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทย จนเกิดเป็นกิจกรรมประกวดสื่อโฆษณาเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกต่อถุงยางอนามัยในวิถีชีวิตปกติ ภายใต้หัวข้อ “Condom All Gen Enjoy กับถุงยาง”
“กิจกรรมนี้ มุ่งเน้นให้เกิดสื่อโฆษณาสะท้อนความเป็นปกติของถุงยางอนามัยกับการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งเสริมความภาคภูมิใจในการพกพาหรือการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มสถาบันการศึกษาทุกระดับจนมีผลงานส่งเข้าประกวด 206 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานระดับมหาวิทยาลัย 18 ผลงาน ระดับอาชีวศึกษา 25 ผลงาน และระดับมัธยมศึกษา 163 ผลงาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา และโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งทุกรางวัลจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และทุนการศึกษามูลค่ารวมหนึ่งแสนบาท โดยเป็นผลงานที่มีคุณภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การเขียนบทโฆษณาและขั้นตอนการนำเสนอ สามารถนำไปใช้และต่อยอดเป็นสื่อโฆษณาที่ใช้ประโยชน์ได้จริงทุกช่องทาง” นายสุรเชษฐ์ กล่าว