รพ.ปิยะเวท จับมือ สปสช. รับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทอง ช่วยคนไข้โรคไตผ่าตัดเส้นเลือดฟอกไตได้เร็วขึ้น
โรงพยาบาลปิยะเวทเผยเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 ร่วมกับ สปสช.-กทม. เพราะหวังลดเวลารอคอย ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการวินิจฉัย-การรักษา ได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับฟอกไตซึ่งปัจจุบันยังรอคิวนาน แย้มในอนาคตจะพิจารณารับผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มเติม
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด กล่าวถึงการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเคยเข้าไปมีส่วนร่วมกับ สปสช. ตั้งแต่ยุคของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต่อมาเมื่อเกษียณแล้วมาทำงานกับภาคเอกชนก็มองเห็นว่าคนไข้สิทธิบัตรทองมีคุณภาพชีวิตด้านการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก
อย่างไรก็ดี ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีโอกาสที่จะพัฒนาให้คนไข้เข้าถึงบริการได้มากขึ้นอีก เพื่อไม่ให้เกิดการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า แต่ลำพังหน่วยบริการภาครัฐเองก็มีภาระเต็มมืออยู่แล้ว โรงพยาบาลปิยะเวทในฐานะเอกชนตัวเล็กๆ แห่งหนึ่ง เห็นถึงความจำเป็นในส่วนนี้และยินดีเข้ามาช่วยนำร่องในโครงการนี้ เชื่อว่าจะเกิดผลดีในแง่ของการลดระยะเวลารอคอยการตรวจการรักษา ให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เร็วขึ้น
“เป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือให้ดีขึ้น อย่างในอดีตสมัยที่ผมอยู่โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ร่วมกับ สปสช. ทำโครงการผ่าตัดต้อกระจกจนช่วยผ่าตัดให้ผู้มีปัญหาสายตากลับมามองเห็นได้นับหมื่นราย หรือโรงพยาบาลปิยะเวทเองก็เคยรับดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง สวนหลอดเลือดหัวใจ จนกระทั่งในระยะหลังก็มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการสวนหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นเป็นต้น”นพ.วิทิต กล่าว
นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ โรงพยาบาลปิยะเวทจะรับเฉพาะผู้ป่วยส่งต่อ โดยเน้นที่ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับฟอกไต ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาต้องรอคิวนานมาก โรงพยาบาลมองว่าหากมีห้องผ่าตัดและแพทย์ว่างก็ยินดีช่วยผ่าตัดให้ผู้ป่วยบัตรทอง โดยมาตรฐานบริการไม่มีความแตกต่างจากผู้ป่วยสิทธิอื่นๆ เพียงแต่วิธีการรับบริการต้องเป็นผู้ป่วยส่งต่อเท่านั้น
ในส่วนของผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในโรคอื่นๆ นพ.วิทิต กล่าวว่าอยู่ระหว่างจัดเตรียมสถานที่ เนื่องจากโรงพยาบาลขึ้นทะเบียนไว้ 150 เตียง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างทำ EIA เพื่อขยายเป็น 350 เตียง นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังอยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์รังสีรักษา และในอนาคตก็จะพิจารณาว่าจะช่วยผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรอคิวผ่าตัดนานจนอาการของโรครุนแรงมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง
“ถ้ามีอะไรช่วยได้เราก็ช่วย เหมือนตอนโควิด-19 เราก็ช่วยเต็มที่ เราอยากเห็นคนไข้ได้โอกาสเข้าถึงการรักษาที่เร็วขึ้นโดยที่หากทุกฝ่ายมีความสุข สปสช.สบายใจที่ผูป่วยได้รับการดูแลไม่ว่าจะจากหน่วยบริการภาครัฐหรือเอกชน ส่วนคนไข้ก็รอดปลอดภัย และในอนาคตเราก็อยากเห็นความร่วมมือนี้ขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้นก็ขอชวนโรงพยาบาลอื่นๆ เข้ามาช่วยกันคนละไม้ละมือมากขึ้น”นพ.วิทิต กล่าว
31 สิงหาคม 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
-ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
-Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
-ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw