สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ 'ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง'
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ 'ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง' จากระดับปิดวันก่อนหน้า
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.10-35.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลง และราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) และบางส่วนก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ และปัจจัยการเมืองไทยในวันที่ 22 สิงหาคม นี้
แม้ว่าผู้เล่นในตลาดฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงกังวลต่อความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของเฟด แต่ทว่า ความคาดหวังต่อผลกำไรของบริษัท Nvidia ที่จะรายงานในวันพุธนี้ ว่าจะออกมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อหุ้นธีม AI และ Semiconductor (Nvidia +8.5%, AMD +2.6%, Microsoft +1.7%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นแรง +1.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.05% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +1.0%) และการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +0.9%) หลังจากหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงที่ผ่านมาก ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและโอกาสเฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดใหม่ แถวระดับ 4.35% ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองของนักลงทุน โดยเฉพาะฝั่งที่เข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผลกำไรขาดทุนของบอนด์ระยะยาวจะอ่อนไหวกับการเปลี่ยงแปลงของบอนด์ยีลด์มาก (High Duration Risk) อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวได้ โดยที่ Risk-Reward คุ้มค่า โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 4.00% เช่นในปัจจุบัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ก่อนที่จะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นต่อตาม ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.1-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กดดันให้ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,914-1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจเริ่มเห็นโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
อย่างไรก็ดี ไฮไลท์สำคัญอาจอยู่ในฝั่งไทย โดยเรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หลังรัฐสภาเตรียมโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันนี้ โดยหากการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลงอย่างราบรื่น ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มแผ่วลง ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังไม่สามารถกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หรือ ราคาทองคำก็มีจังหวะย่อตัวลง ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก รวมถึงการลดสถานะ Short THB ของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะทยอยรับรู้ปัจจัยการเมืองของไทยในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ดังนั้น หากปัจจัยภายนอกยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ทำให้เงินบาทอาจผันผวนไปตามปัจจัยการเมืองของไทยได้
โดยเรามองว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นลง และหากสถานการณ์การเมืองไทยมีความวุ่นวายมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรายังคงประเมินแนวต้านเงินบาทในโซน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ และในกรณีที่ การโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลง เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “จบรอบการอ่อนค่าที่ผ่านมา” โดยเราประเมินแนวรับเงินบาทในระยะนี้ แถวโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป
และนอกเหนือจากปัจจัยการเมืองไทย ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากโฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น หลังเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ทำให้เมื่อเทียบกับเงินบาท ค่าเงินเยนญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่ถูกพอสมควร (ต่ำกว่าระดับ 24 บาทต่อ 100 เยน)
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ ไทย และมองกรอบในช่วง 34.80-35.50 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างทยอยรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ ไทย