หากไม่นับกระแสการเมืองที่ร้อนแรง เรื่องราคาพลังงานก็ดูจะเป็นประเด็นรองๆ ที่ประชาชนและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “ดีเซล” น้ำมันที่ถูกให้การอุดหนุนต่อเนื่องมายาวนาน แม้จะปลดล็อกราคาที่ตรึงไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาทมาแล้วตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 แต่ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีต่อเนื่อง ทำให้การขยับราคาดีเซลให้เป็นไปตามกลไกตลาดเหมือนเบนซินดูจะเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ดีเซลเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ ต้องได้รับการดูแลเพราะกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นด่านแรกที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาดีเซล ในปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนหนักมากจากปัจจัยหลักสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ทำให้กองทุนฯ ต้องใช้เงินกองทุนฯ จำนวนมากเพื่อให้ดีเซลอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จนกระทั่งทำให้ขาดสภาพคล่อง ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอย่างรวดเร็วจนเกินระดับแสนล้านบาท รัฐจึงต้องนำกลไกด้านภาษีมาเป็นตัวช่วย โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการลดภาษีดีเซลโดยจำกัดระยะเวลาเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ พ.ค. ปีที่แล้ว ช่วงแรกลดภาษีลิตรละ 3 บาท และครั้งต่อ ๆ มาลดลิตรละ 5 บาท ซึ่งการช่วยเหลือได้ดำเนินการต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง มีการประเมินตัวเลขว่า ทำให้รัฐสูญรายได้รวมถึง 158,000 ล้านบาท
ครั้งสุดท้ายของมาตรการลดภาษีดีเซลได้สิ้นสุดไปเมื่อ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรี ชุดรักษาการไม่ได้ต่ออายุมาตรการ ทำให้งานนี้ต้องถูกส่งไม้ต่อกลับไปที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะกองทุนฯ เริ่มมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ และสามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลง โดยกองทุนฯ จะรักษาเสถียรภาพราคาไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 32 บาท เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนด้วยปัจจัยกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก และความกังวลในเศรษฐกิจที่ยังคงถดถอย ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในตลาดโลกช่วง ม.ค.– มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 98.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งระดับราคาดังกล่าวกองทุนฯ ยังสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าหากราคาดีเซลตลาดโลกสูงเกิน 110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทางกระทรวงพลังงานก็จะทบทวนอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการสภาพคล่องกองทุนฯ
แม้ว่าการเข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันยังมีความจำเป็นเพราะเนื่องมาจากดีเซลยังเป็นเชื้อเพลิงหลักด้านการผลิตและการขนส่งของประเทศก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปอีกด้านคือ การใช้อย่างประหยัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนสามารถทำได้และเกิดประโยชน์ประโยชน์โดยตรงในการประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งในระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ ที่สำคัญยังทำให้เรามีส่วนช่วยแก้ปัญหาลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงเพื่อมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอนได้ตามเป้าหมายที่ประเทศไทยตั้งไว้จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065