สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +50bps หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ในการประชุมต้นเดือนสิงหาคม หลังจากที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ได้ชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย BOE ณ สิ้นปีลงพอสมควร
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ 'อ่อนค่าลง' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 33.96-34.26 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง กดดันโดยการปรับตัวลงแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ขนาดใหญ่ อย่าง Tesla -9.7%, Netflix -8.4% ที่รายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare นำโดย Johnson&Johnson +6.1% ที่รายงานผลประกอบการดีกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.68%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.42% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare (Novo Nordisk +3.7%) รวมถึงกลุ่มธนาคาร (HSBC +1.8%) ที่ตลาดคาดหวังว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะรายงานผลประกอบการที่สดใส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor โดยเฉพาะ ASML -4.9% จากความกังวลว่า ความต้องการใช้ชิพฯ อาจลดลง หลังผู้ผลิตชิพฯ รายใหญ่อย่าง TSMC ปรับลดคาดการณ์ยอดขายลง จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มเผชิญความผันผวนบ้าง แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาดพอสมควร ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.85% (แกว่งตัวในกรอบ 3.80%-3.88% ในช่วงคืนก่อนหน้า) ทั้งนี้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ เช่น หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.00% (หรือปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับดังกล่าว) ก็จะเป็นจังหวะที่น่าทยอยเข้าลงทุน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน จากการทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 100.8 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 100.1-101 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +50bps หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ในการประชุมต้นเดือนสิงหาคม หลังจากที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ได้ชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย BOE ณ สิ้นปีลงพอสมควร
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้ ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การเมืองไทย หลังล่าสุดนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรการลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นชะลอลง หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรหุ้นไทยและบอนด์ระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติ หลังสถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งความกังวลของนักลงทุนต่างชาติก็อาจทำให้ฟันด์โฟลว์มีทิศทางที่ผันผวนได้ในระยะนี้ โดยนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ โดยในกรณีที่ เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (ที่อาจมาพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำ) และแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น ก็อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.30-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มค่าเงินบาท (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) อาจรอจังหวะการอ่อนค่าของเงินบาทในการเพิ่มสถานะ Long THB ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็เริ่มสะท้อนผ่านโฟลว์ซื้อบอนด์ระยะสั้นบางส่วน ในช่วงสัปดาห์นี้ของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นการปรับมุมมองของนักวิเคราะห์ต่างชาติบางส่วนที่กลับมาแนะนำให้ Long THB หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้าส่วนใหญ่นักวิเคราะห์จะคงมุมมอง Neutral หรือ Wait and See สำหรับค่าเงินบาท
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์