วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบ 'รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติการปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ' ร่วมขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลจาก 2 โครงการ
วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบ 'รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติการปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ' ร่วมขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลจาก 2 โครงการ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 'ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง' ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุุรี มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ ส่งเสริม เศรษฐกิจชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พิธีมอบรางวัลดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลฯ ซึ่งในปี 2566 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 และในปีนี้ โครงการปลูกต้นไม้และปลูกป่าของซีพีเอฟ ที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตร ได้รับรางวัลฯ 2 โครงการ โดยมี นายพิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เป็นตัวแทนรับรางวัลฯ โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร พร้อมด้วยตัวแทนซีพีเอฟ และ นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๕ (สระบุรี) กรมป่าไม้ และ นายสุรพัฒน์ สายเพชร ตัวแทนคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เข้ารับรางวัลฯ จัดโดย คณะทำงานโครงการสมัชชาปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ร่วมกับ มูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) ร่วมด้วย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะทำงานโครงการสมัชชาปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ.
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ที่ปรึกษากรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในฐานะประธาน 'คณะทำงานโครงการปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ' การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติในวันนี้ เป็นการให้กำลังใจกับหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายชุมชน และประชาชนที่ทำเรื่องดีๆ เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ ทั้งที่ทำแล้วในอดีต ปัจจุบันที่ยังทำอยู่และจะทำกันต่อไป เช่น โครงการเขาพระยาเดินธงฯ ที่มีการปลูกป่าใกล้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีภาครัฐคือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๕ (สระบุรี) กรมป่าไม้ ดำเนินการมีระบบการปลูกป่า ฟื้นจากป่าเสื่อมโทรมในเขตป่าสงวน กลับสู่ป่าที่เขียวขจีในเวลาไม่เกิน 10 ปี การทำสำเร็จได้มีภาคเอกชนคือ ซีพีเอฟ เข้าไปเป็นหลังหนุนให้ สะท้อนว่า การมีส่วนร่วมหนุนซึ่งกันและกันทำให้เกิดงานใหญ่ๆ งานดีๆ เช่นเดียวกับโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ในพื้นที่ของซีพีเอฟ ที่มีฟาร์มสุกรเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส พลิกฟื้นการปลูกป่าในเวลาไม่ถึง 10 ปี เกิดการเรียนรู้การปลูกป่าแบบธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้และวิจัยจากการปฏิบัติจริง เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวให้กับคนไทย
ทางด้าน นายพิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เป็นต้นแบบป่านิเวศในฟาร์มสุกรแห่งแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ และเกษตรกรในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ และชุมชน ร่วมกันสร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พลิกพื้นที่ว่างในฟาร์มสุกรเป็นป่านิเวศในชุมชน ตามนโยบายฟาร์มสีเขียว (Green Farm) ด้วยการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ร่วมบริหารจัดการและดูแลต้นไม้ในพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ปลูกต้นไม้รวมไปแล้วมากกว่า 25,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีทั้งไม้ยืนต้นและพันธุ์ไม้หายากมากกว่า 210 ชนิด ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ อาทิ นำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบก๊าซชีวภาพ หรือน้ำปุ๋ย และปุ๋ยจากมูลสุกรมาใช้ปลูกต้นไม้ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน โครงการฯยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่มีการนำคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาใช้ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพัฒนาโปรแกรมการศึกษาดูงาน (Integrated Learning Center) ที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มที่เข้าเยี่ยมชม ทั้งชาวชุมชน สถานศึกษาในท้องถิ่น และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี
ส่วน นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๕ (สระบุรี) กรมป่าไม้ และทำหน้าที่หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ป่าเขาพระยาเดินธง กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน คือ ภาครัฐโดยกรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเป็นผลสำเร็จไปแล้ว 7,000 ไร่ ถือเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่าให้กับผืนป่าอื่นๆของประเทศไทย ด้วยการนำรูปแบบของการฟื้นฟูป่า 4 รูปแบบมาใช้ คือ การปลูกป่าแบบพิถีพิถัน การปลูกเสริมป่า การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ และปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ผืนป่าแห่งนี้ ฟื้นตัวได้เร็วกว่าปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และเป็นการปลูกป่าที่มีการติดตามผลและดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟและกรมป่าไม้ สร้างการมีส่่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ เพื่อร่วมกันดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนชุมชนทำโครงการปลูกผักปลอดสารวิถีธรรมชาติ และโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืด เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ส่งเสริมชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน