สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.1% จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ 'แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหว sideway ในกรอบ 34.75-34.85 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ (19.30 น.) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาสถานการณ์การเมืองไทยที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ในวันที่ 13 กรกฎาคม
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังจบการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ (ตลาดยังให้โอกาส 92% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่า ผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อาจออกมาดี หลังล่าสุด นักวิเคราะห์ได้ปรับมุมมองต่อหุ้น JPM เป็น 'BUY' ส่งผลให้ บรรดาหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ต่างปรับตัวขึ้น (JPM +1.6%, BofA +1.3%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.67%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นราว +0.72% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +2.2%, Dior +2.2%) และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +1.6%) ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้น Novo Nordisk -2.6% จากประเด็นการสืบสวน Side effects ของยาเบาหวานและยาลดน้ำหนักของบริษัท
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.96%-4.00%) และแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่เรามองว่า Risk-Reward ณ ระดับยีลด์ปัจจุบัน ก็ถือว่าน่าสนใจมาก ทำให้เราคงแนะนำ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อได้ใกล้และยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.6 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.5-102 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงบ้าง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ใกล้โซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เรามองว่าผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.1% จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญ อาจชะลอลงสู่ระดับ 5% ซึ่งอาจเป็นระดับที่เฟดยังคงกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมากกว่าคาด เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นชะลอลงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักในระยะถัดไป
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้แถว 34.90 บาทต่อดอลลาร์ จนทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราคาด แต่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเราเห็นสัญญาณการทยอยขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ โซน 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ก็เป็นช่วงที่ผู้เล่นในตลาด อย่าง ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดที่กลับมา Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ในช่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทยอยขายทำกำไรได้บ้าง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ อาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดก็มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ อย่างน้อย อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้น (Higher For Longer) ซึ่งมุมมองดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเรามองว่า เงินบาทก็อาจอ่อนค่ามาติดโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้
ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างได้มองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด และในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาทองคำก็อาจรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือสูงกว่านั้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ (ซึ่งก็เป็นแนวรับที่ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เช่นกัน)
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.45-34.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ