SCB CIOคาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า1.3 ล้านล้านบาท แนะผู้ลงทุนใช้4ปัจจัยสแกนหุ้นกู้เสริมภูมิคุ้มกันพอร์ต
SCB CIO แนะนำผู้ลงทุนใช้ 4 ปัจจัยหลักพิจารณาหุ้นกู้ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ โดยดูการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ การเลือกประเภทหุ้นกู้ บรรษัทภิบาลของผู้ออกหุ้นกู้ และวิเคราะห์งบการเงิน คาดปีนี้ภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3ล้านล้านบาท หลังดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน ชี้ช่องควรกระจายความเสี่ยงลงทุนหุ้นกู้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้พอร์ตมีความสมดุลมากขึ้น และดอกเบี้ยในต่างประเทศปรับขึ้นมาก โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนระยะสั้นๆ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรับในระดับ 5%
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่าภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้รวมไม่ต่ำกว่า1.3 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจากปี2565 ที่มีการออกหุ้นกู้รวมมากกว่า1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจาก แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งออกหุ้นกู้เพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน จากกระแสข่าวที่มีผู้ออกหุ้นกู้บางรายผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ลงทุนกังวลใจ SCB CIO จึงขอแนะนำหลักในการพิจารณาหุ้นกู้ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1)การพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ จะต้องดำเนินการโดยสถาบันจัดอันดับความเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เป็นการช่วยวิเคราะห์และจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับสูงสุดAAAถึง BBB- ซึ่งเป็นอันดับท้ายสุดที่อยู่ในกลุ่มตราสารที่ลงทุนได้ (Investment Grade : IG) ส่วนระดับที่ต่ำกว่านี้ จัดเป็น High yield หรือ Junk Bond เป็นหุ้นกู้ที่เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้น อยู่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ กลุ่มนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่ ลำดับล่างสุดของการจัดอันดับ คือ D หมายถึง หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (in default) “การลงทุนในหุ้นกู้มักพิจารณาดอกเบี้ยรับที่นำเสนออย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอผู้ลงทุนต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ด้วย โดยจะถูกรวมไว้ในการพิจารณาความเสี่ยงตาม Rating สิ่งที่ผู้ลงทุนพึงระวัง คือ Rating ของผู้ออกหุ้นกู้ที่ลดลงหนึ่งระดับ หมายถึงความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิม” นายศรชัย กล่าว
2)การเลือกประเภทของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้แต่ละประเภทมีความเสี่ยงและลำดับการได้รับชำระหนี้คืนแตกต่างกัน ดังนี้ 1)หุ้นกู้ที่มีหลักประกัน (Secured Bond) ได้สิทธิในสินทรัพย์ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย 2)หุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecure Bond) มีสิทธิในสินทรัพย์เท่ากับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน 3)หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ มีสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสารเท่าเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น และสูงกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และ 4)หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) เมื่อผู้ออกหุ้นกู้เลิกกิจการหรือล้มละลาย จะได้รับสิทธิชำระหนี้คืนอันดับหลังจากผู้ถือหุ้นกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงเจ้าหนี้สามัญประเภทอื่น แต่ก็ยังได้รับสิทธิชำระคืนเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ทั้งนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หุ้นกู้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond)ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปแต่ไถ่ถอนคืนได้เมื่อเลิกกิจการจึงมักนำเสนอผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond)มีคุณสมบัติแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะออกหุ้นสามัญมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ระหว่างที่ลงทุนสามารถเปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของได้ เหมาะกับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูงขึ้นจากกำไรส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้น อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้นสามัญต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ สามารถถือหุ้นกู้ไว้รับคืนเงินต้นได้ สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Senior Unsecured Bond) โดยมีหุ้นกู้ Perpetual Bond ที่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ที่มีหลักประกันอยู่บ้างสำหรับบริษัทที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต แม้หุ้นกู้จะมีหลักประกัน แนะนำให้พิจารณาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันเพิ่มเติม เช่น ที่ดิน และหุ้น ควรพิจารณาว่ามูลค่าครอบคลุมมูลค่าหุ้นกู้หรือไม่ หากค้ำประกันโดยบุคคลต้องพิจารณาความมั่งคั่งของผู้ค้ำประกัน ในทำนองเดียวกันหากใช้ลูกหนี้การค้าค้ำประกัน ต้องพิจารณามูลค่าลูกหนี้การค้า คัดเฉพาะลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน
3 )บรรษัทภิบาลของผู้ออกหุ้นกู้ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการไปลงทุนในบริษัทที่ตกแต่งงบการเงินหรือมีการทุจริตภายใน โดย SCB CIO เชื่อว่าในอนาคตหน่วยงานที่ประเมินคะแนนบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน จะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น ขณะที่ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล เป็นส่วนสำคัญในเรื่องบรรษัทภิบาลที่ต้องพิจารณา ผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลว่าบริษัท ให้ความสำคัญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) เช่น เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น พนักงานบริษัท และสังคม มากน้อยอย่างไร รวมทั้งพิจารณาประวัติของผู้บริหารด้วย
4)การวิเคราะห์งบการเงินในเบื้องต้น ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน โดยในเบื้องต้นให้ผู้ลงทุนสังเกตความผิดปกติของงบดุล เช่น สินทรัพย์โตเร็วผิดปกติ ลูกหนี้การค้าจำนวนเพิ่มขึ้นมากหรือระยะเวลาการจ่ายหนี้ยาวขึ้นกว่าเดิมรวมทั้งพิจารณาสัดส่วนหนี้สินหากมีมากขึ้นก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากมีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินรวมกับส่วนผู้ถือหุ้น บริษัทนั้นอาจเข้าข่ายล้มละลาย ไม่มีเงินชำระคืนหนี้ได้ เมื่อตรวจสอบงบกำไรขาดทุน ผู้ลงทุนควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การเติบโตของรายได้ ความสามารถในการทำกำไร โดยเปรียบเทียบกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กับกำไรสุทธิ สิ่งสำคัญคือให้พิจารณาว่ามีรายได้หรือกำไรเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่และประเมินคำอธิบายว่าสาเหตุการเพิ่มขึ้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เพื่อป้องกันการตกแต่งตัวเลขทางการเงิน ขณะที่งบกระแสเงินสดมีความสำคัญอย่างมาก สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ เพราะถึงแม้ผู้ออกหุ้นกู้จะมีกำไรมาก แต่หากไม่มีเงินสดรับเกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงาน อาจส่งผลให้งบกระแสเงินสดติดลบ อาจบ่งบอกถึงการขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้
สำหรับอัตราส่วนทางการเงินที่ต้องวิเคราะห์ ได้แก่ EBITDA / ดอกเบี้ยจ่าย เพื่อดูว่ามีความสามารถชำระดอกเบี้ย EBITDA/(ดอกเบี้ยจ่าย+หนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดในหนึ่งปีข้างหน้า) เพื่อประเมินความสามารถชำระหนี้ ค่าที่สูงขึ้นของทั้งสองอัตราส่วนนี้ บ่งบอกถึงสถานะที่แข็งแกร่ง หนี้สินรวม/ส่วนผู้ถือหุ้น เพื่อดูอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ถ้ายิ่งน้อยก็ยิ่งดี แต่ต้องเทียบบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมด้วย EBITDA/รายได้รวม เพื่อประเมินความสามารถในการทำกำไร ที่วัดด้วยกำไรจากการดำเนินงาน ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี และ กำไรสุทธิ/รายได้รวม เพื่อดูความสามารถทำกำไร วัดจากกำไรสุทธิ
นอกจากนี้ การอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นสิ่งสำคัญ โดยความเห็นของผู้สอบบัญชี มี 4 แบบ โดยแบบแรก คือ ไม่มีเงื่อนไข หากผู้สอบบัญชีรับรองงบแบบนี้ และเป็นผู้สอบบัญชีที่เข้มงวด เชื่อถือได้ ผู้ลงทุนก็สบายใจได้เพราะไม่พบอะไรที่น่ากังวล แต่หากมีความเห็นอีก 3 แบบ อาจต้องเข้าไปตรวจสอบ หรือ หลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทนั้น เพราะมีความผิดปกติของงบการเงิน ได้แก่ แบบที่ 2 มีเงื่อนไข แบบที่ 3 งบการเงินไม่ถูกต้อง และ แบบที่ 4 ไม่แสดงความเห็น
“เราแนะนำให้ผู้ลงทุน กระจายความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ ทั้งด้านอันดับความน่าเชื่อถือ และประเภทหุ้นกู้ หากรับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้เลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับบน เช่น AA ขึ้นไปจนถึง AAA แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง อาจลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ที่นำเสนอผลตอบแทนสูงๆ ได้ แต่ควรพยายามกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหุ้นกู้หลายรุ่น หลายบริษัท ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละตัวไม่สูง เพื่อให้เงินลงทุนในหุ้นกู้ High Yield มีสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนโดยรวม หรืออาจกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการแทน” นายศรชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน หากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ อาจกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อช่วยให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีความสมดุลมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศอย่างเดียว โดยปัจจุบัน มีกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นกู้ในต่างประเทศจำนวนมาก และอาจมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในไทยด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยในต่างประเทศปรับขึ้นมามาก และอยู่ในระดับสูงกว่าไทย โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนระยะสั้นๆ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรับในระดับ 5%