30 มิ.ย. นี้ สปสช. ชวน 'ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ' ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศ กองทุนบัตรทอง ประจำปี 2566 ผ่านออนไลน์ ชูประเด็นระดมความเห็น 'สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค'
30 มิ.ย. นี้ สปสช. ชวน 'ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ' ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศ กองทุนบัตรทอง ประจำปี 2566 ผ่านออนไลน์ ชูประเด็นระดมความเห็น 'สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค' และข้อเสนอแนะการเข้าถึงบริการถ้วนหน้า เร่งสร้างสุขภาพที่ดีให้ประชาชน รวมถึงประเด็นข้อบังคับ 8 ด้าน เร่งรวบรวมความเห็นจาก 13 เขตพื้นที่ ช่องทางออนไลน์ และบูรณาการงานประจำ คัดกรองสรุป พร้อมนำส่งมอบข้อเสนอ สปสช. ดำเนินการต่อไป
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามมาตรา 18 (13) ประจำปี 2566 ว่า ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 นี้ สปสช. โดยการดำเนินงานของอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ระดับประเทศ ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธรณสุข เป็นประธาน ภายหลังได้มีการเปิดรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ในระดับพื้นที่ สปสช.เขต และผ่านช่องทางต่างๆ ไปแล้ว เพื่อเป็นเวทีในการระดมความเห็นและรวบรวมข้อเสนอเป็นข้อสรุปประจำปี 2566 พร้อมรับมอบสรุปผลเข้าสู่กระบวนจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ต่อไป
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ระดับประเทศปี 2566 นอกจากหัวข้อการรับฟังความเห็นที่เป็นไปตามข้อบังคับแล้ว ในปีนี้ได้ชูประเด็นการเสนอความเห็นต่อ 'สิทธิประโยชน์ด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค' เพื่อป้องกันการเป็นโรค สนับสนุนการมีสุขภาพที่ดีและลดการรักษา พร้อมการนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคอย่างถ้วนหน้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการับฟังความเห็นฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วยฝ่ายผู้รับบริการ ได้แก่ ผู้แทนเครือข่ายประชาชน กลุ่มเปราะบาง ฯลฯ และผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้แทนโรงพยาบาลและหน่วยบริการ ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เป็นต้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรับฟังความเห็นฯ ปี 2566 ที่ผ่านมานั้น นอกจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นในระดับเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขตแล้ว ยังมีการรับฟังความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกในการร่วมแสดงความเห็น ได้แก่ เว็ปไซต์ สปสช. โดยสามารถรับความคิดเห็นด้วยระบบเสียงได้ (https://hearing.nhso.go.th) Google form ผ่าน Fb สปสช. / Line OA สปสช. ID @nhso และ Line @traffyfondue รวมถึงข้อเสนอจาก Contact Center 1330 โดยมีผู้ร่วมให้ข้อเสนอแนะแล้วจำนวนกว่า 20,000 ราย
ขณะเดียวกันยังมีการรวบรวมประเด็นความเห็น ทั้งจากสื่อมวลชน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์แหล่งข่าว เช่น คลินิกเวชกรรม สภากายภาพบำบัด เป็นต้น การรับฟังจากองค์กรวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศไทย 15 สาขา และการรับฟังเชิงรุก เช่น ออกบูธห้างสรรพสินค้า และการลงพื้นที่ติดตามงานในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีการบูรณาการความเห็นจากงานประจำด้วย ที่เป็นหนึ่งในช่องทางรับฟังความเห็น อาทิ งานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (คนพิการ ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ ชาวเล เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และเครือข่ายเพื่อนโรคไต) งานบริหารจัดการกองทุนท้องถิ่น และประเด็นเฉพาะกรณี เป็นต้น
'ขณะนี้ทางอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้เก็บรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอที่ถูกส่งเข้ามาผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งหมดข้างต้นนี้ โดยขณะนี้มีผู้ร่วมส่งข้อเสนอกว่า 20,000 คนแล้ว โดยได้มีการกลั่นกรองเพื่อสรุปและเตรียมส่งมอบในเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ระดับประเทศต่อไป' นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
สำหรับประเด็นรับฟังความเห็นฯ ตามข้อบังคับ 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน 4. ด้านบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ 6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 7.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และ 8. อื่นๆ อาทิ การถูกเรียกเก็บเงิน (Extra billing) แก้อย่างไรให้ดีขึ้น การทำให้เข้าถึงบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว จะมีกลไกช่องทางพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้นได้อย่างไร (ทันตกรรม, ฟอกไต, ผ้าอ้อม, Telehealth) และการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปัญหาแนวทางแก้ไขเพื่อการพัฒนา (รวบรวมประเด็นข้อมูล ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเข้าถึงบริการ