เครือซีพี มุ่งสู่องค์กรปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ชูโครงการ 'Re4Rest ปลูกเพื่อความยั่งยืน 4 ต้นน้ำ ภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน' ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) เดินหน้าฟื้นฟูป่าและสภาพแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพ ในพื้นที่ภาคเหนือ 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชนกว่า 50 หน่วยงาน โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 928,851 ต้น ใน 7,947 ไร่ อีกทั้ง ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ในการกักเก็บคาร์บอน รวม 10,688.153 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq)
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เครือซีพีลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน ผ่านโครงการ “Re4Rest” ปลูกเพื่อความยั่งยืน 4 ต้นน้ำ ภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งไม่เพียงฟื้นคืนผืนป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นทางของทรัพยากรและแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังดูแลเกษตรกรและพัฒนาชุมชนให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในรูปแบบ Social Enterprise ควบคู่ไปด้วย โดยเครือซีพีได้เข้าไปสนับสนุน จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ โครงการสบขุ่น โมเดล กาแฟสร้างป่าสร้างรายได้ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ บ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ บ้านทุ่งใหม่ อ.ปัว จ.น่าน โครงการเกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล อ. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และโครงการปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา
เมื่อปี 2564 โครงการสบขุ่น โมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ถือเป็นแห่งแรกที่เครือซีพีเข้าไปร่วมดำเนินการ และยังได้รับการรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS เป็นที่แรก ในด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว กักเก็บคาร์บอนได้ 5,059.534 tCO2eq ต่อมาเครือซีพีได้รับรองจาก อบก. อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ พื้นที่บ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1,774.811 tCO2eq และโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ บ้านทุ่งใหม่ อ.ปัว จ.น่าน สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1,164.758 tCO2eq โดยทั้ง 3 โครงการ เป็นโครงการที่เครือซีพีสนับสนุนด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิตชุมชน ให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาสังคมและชุมชนในพื้นที่ จ.น่าน
ต่อมา ในปี 2565 เครือซีพี ได้รับรองกิจกรรม LESS เพิ่มเติม ในโครงการเกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล อ. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยขับเคลื่อนการทำงานระหว่างเครือซีพี และภาคีเครือข่ายแม่แจ่ม โมเดล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้บนพื้นที่ต้นน้ำปิง จากจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน มาปลูกพืชชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผาวัสดุทางการเกษตร สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 2,687.347 tCO2eq และโครงการปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา ในพื้นที่ต้นน้ำยม โดยสนับสนุนการนำทักษะที่ชุมชนมีในด้านการทำปุ๋ยมาพัฒนาต่อยอดในการลดต้นทุนทางการเกษตร ได้ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ หน่วยงานด้านการศึกษา และชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม แบรนด์ “ฮักษ์น้ำยม” โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์กลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำอีกครั้ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.703 tCO2eq
โดยในปี 2566 นี้ เครือซีพี จะขยายพื้นที่ในการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณป่าสงวน ของกรมป่าไม้ ในพื้นที่บ้านไร่พัฒนา อ.ปัว จ.น่าน จำนวนประมาณ 100 ไร่ เข้าร่วมโครงการ LESS เพื่อยกระดับชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้ ในแต่ละโครงการจะมีเป้าหมายและแนวทางในการช่วยเหลือแตกต่างกันออกไปตามบริบทและปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยเครือซีพี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการต่างๆจะสามารถนำร่องสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมลดปัญหาโลกร้อนไปพร้อมกัน เพื่อให้ประเทศและโลกของเราคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป