ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า สถาบันคึกฤทธิ์ จะจัดการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.00 - 16.00 น. ที่สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยงามดูพลี มี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญร่วมอภิปราย โดยเชิญชวนบุคคลในวงการเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังและซักถาม เพื่อไปขยายผลให้การกระตุ้นรัฐบาลใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เหตุผลในการจัดอภิปรายครั้งนี้ เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการณ์ในโลกซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย คือ การระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย - ยูเครน การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักงัน ประเทศคู่ค้าของไทยถูกผลกระทบถ้วนหน้า การส่งออกของไทยหดตัวลง
ในขณะเดียวกันการระบาดก็เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยมีผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจหลายชนิดหยุดลง เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรคร้าย รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากต่อสู้กับโรคร้าย อุดหนุนผู้คนที่ตกงานจากผลกระทบของโรคร้ายและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่อยู่ในระดับ 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( GDP )เพิ่มขึ้นจนถึง 61%ของ GDP ทะลุเพดานหนี้เดิมและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้กันเป็นส่วนใหญ่
หลังจากโรคระบาดมาได้ 2 ปี การระบาดชะลอตัวลง ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มดำเนินการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับคืนมา ประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็เกิดสงคราม รัสเซีย – ยูเครน ขึ้น ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันและพืชผลสูงขึ้นทั่วโลก กระทบถึงต้นทุนการผลิตสินค้าของทุกคน และมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปที่สนับสนุนยูเครนในการรบ ซึ่งต้องประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานจนเศรษฐกิจชะงักตัวลงอีกครั้งหนึ่ง การชะงักตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป(EU)นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทยที่ส่งไป EU แล้ว ยังมีผลทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าอื่นด้วย เพราะ EU เป็นผู้ซื้อของประเทศคู่ค้ารายอื่นของไทยด้วย
การส่งออกของไทยที่เพิ่งฟื้นตัวกลับ หลังจากที่การระบาดของโรคโควิด-19 ชะลอตัวลง ทำท่าว่าจะชะงักงันอีกครั้งหนึ่ง
วิกฤตการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมอย่างที่รู้สึกกันได้ เกิดความกลัวว่าหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเกินเพดาน 60% ของ GDP ในขณะที่เราเก็บภาษีได้ต่ำกว่า 15% ของ GDP อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้อาจมีปัญหาด้านอื่นในเศรษฐกิจมหภาคของไทย อันเกิดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในโลกรวมทั้งการล้มลงของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่เรายังไม่ได้ดูกันให้ละเอียดอย่างจริงจัง