ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หนุนผลิตอาหารยั่งยืน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % หนุนกระบวนการผลิตอาหารยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ ก้าวสู่เป้าหมายองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) รุกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป ธุรกิจอาหาร ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)และโครงการฟาร์มต้นแบบ RE 100 ผลิตพลังงานทดแทนใช้ภายใน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก ควบคู่ดำเนินโครงการต้นแบบเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานทดแทนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดยมาตรการหลักเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จากในปี 2022 ซึ่งซีพีเอฟใช้พลังงานหมุนเวียน 30 % ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัท ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล 69 % พลังงานก๊าซชีวภาพ 29% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% โดยมีความมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 50 % ในปี 2030 (พ.ศ.2573) และเป็น 100% ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
"ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และเรายังเป็นบริษัทลำดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด" นายพีรพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของซีพีเอฟส่วนใหญ่มาจากพลังงานชีวมวล อาทิ การใช้เศษไม้สับเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟทั้ง 13 แห่ง เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน จากการที่ซีพีเอฟได้ประกาศนโยบาย CPF Coal Free 2022 ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % สำหรับกิจการในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา รวมทั้งกิจการในต่างประเทศที่เวียดนาม ที่มีการยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % แล้วเช่นกัน โดยในปี 2565 พลังงานชีวมวลสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในด้านของการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ บริษัทฯ ดำเนินโครงการต้นแบบการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานทดแทน โดยติดตั้งระบบย่อยสลายกากตะกอนของเสียจากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตไบโอแก๊สสำหรับผลิตไฟฟ้า และกากที่ย่อยสลายแล้วกลายเป็นปุ๋ย ช่วยประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งปัจจุบัน มีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ 98 แห่งทั่วประเทศ และคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่ง สามารถเปลี่ยนของเสียเป็นไบโอแก๊สที่ใช้ทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้กว่า 69 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 440,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปัจจุบัน ซีพีเอฟ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการฟาร์มต้นแบบ RE 100 หรือ Renewable Energy 100% คือ สามารถผลิตพลังงานทดแทนใช้ภายใน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ รุกเพิ่มสัดส่วนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่การประกอบธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป และธุรกิจอาหาร โดยเป็นข้อตกลงการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ากับภาคเอกชนในรูปแบบ Power Purchase Agreement (PPA) มีเป้าหมายภายในปี 2568 ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟรวมทั้งสิ้นกว่า 208 แห่ง กำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมประมาณ 100 เมกะวัตต์ และในปีนี้ ซีพีเอฟฯ มีโครงการทดลองนำรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลาง EV มาใช้รองรับการขนส่งในฟาร์มและโรงงาน เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก