สปสช.ห่วงใยประชาชนสิทธิบัตรทองเดินทางสงกรานต์ หากเจ็บป่วยสิทธิ UCEP/บัตรทอง พร้อมดูแล
สปสช.ห่วงใยประชาชนสิทธิบัตรทองเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตเข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ตามนโยบาย UCEP ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่จำเป็นต้องรับการรักษา รวมถึงเจ็บป่วยทั่วไปใช้บริการ “ปฐมภูมิ 30 บาทรักษาทุกที่” เน้นย้ำเดินทางอย่าลืมพก “บัตรประชาชน”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 นี้ ซึ่งเป็นช่วงมีวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2566 เมื่อรวมวันหยุดราชการเสาร์และอาทิตย์รวมเป็น 5 วัน ประชาชนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมเยียนครอบครัว สปสช.ขอแจ้งผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วยระดับฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด แต่หากไม่แน่ใจว่าอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของตนเป็นระดับวิกฤติหรือไม่ แนะนำให้เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุด
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ระดับฉุกเฉินวิกฤติ (สีเหลือง-เขียว) หรือกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง เจ็บ ไข้ ไอ ปวด ทำแผล ยาหมด เป็นต้น สามารถเข้ารับบริการ “ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” หรือ “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทอง ที่ได้ขยายบริการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ที่สุด เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวเหมือนในอดีต หรือเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุด
“การเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในช่วงของการเดินทางอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับบริการหากมีเหตุจำเป็น เพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทางด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว