สอวช. ร่วมกับ STIPI มจธ. เดินหน้าเปิดหลักสูตรอบรมบ่มเพาะนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวสู่รุ่นที่ 5 มุ่งตอบโจทย์สร้างรากฐานด้านนโยบายของประเทศ
วันที่ 31 มกราคม 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีเปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 5 (STIP05) ณ อาคาร KX มจธ. โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมามอบ wisdom ให้แนวคิดกับผู้อบรม ได้แก่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกสภา มจธ. รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษา มจธ. และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีการปล่าวเปิดหลักสูตร โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย รักษาการแทนอธิการบดี มจธ. และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เปิดหลักสูตรอบรมต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นที่ 5 และได้กล่าวเน้นย้ำให้เห็นว่าการทำนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มีความสำคัญอย่างมาก โดยคณะผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับ วทน. มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้ตั้งหน่วยงานด้านนโยบายแยกออกมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งเปลี่ยนเป็น สอวช. ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนในเรื่องการวางรากฐานด้านนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ จึงได้เกิด STIPI ขึ้นมา โดยมีส่วนในการทำ Evidence-Based Policy Study ช่วยเสริมให้การทำนโยบายด้าน วทน. ของไทยมีแนวทางและรากฐานที่ชัดเจนขึ้น
อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านยังได้หยิบยกประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการทำนโยบายของประเทศได้ อาทิ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีอัตราการเกิดลดลง และยังส่งผลให้แรงงานหดตัวลงด้วย หรือประเด็นเรื่อง BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อมโยงกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญอย่างเรื่อง ESG (Environmental: สิ่งแวดล้อม Social: สังคม และ Governance: ธรรมาภิบาล) เป็นต้น
ด้าน ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึงแนวคิดของผู้นำทั่วโลกที่จะเห็นได้ชัดเจนว่า การนำ วทน. มาใช้ จะช่วยทำให้ประเทศเติบโต ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีการกระจายรายได้ไปยังคนทุกกลุ่ม ทำให้ช่องว่างทางรายได้ลดลง สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย คือเรามีนโยบายหรือหมุดหมายที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว แต่คำถามคือเราจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ (Deployment) ได้อย่างไร ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่มีการสร้างเครือข่ายมากกว่าสมัยก่อน หากตัวแทนผู้เข้าร่วมการอบรมจากหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ทำงานอย่างสอดประสานกัน จะเชื่อมโยงไปสู่การสร้างแผนปฏิบัติงานที่ดี ที่จะตอบโจทย์แผนในภาพรวมของประเทศได้
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การพัฒนาด้าน วทน. ของประเทศมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมามีวิวัฒนาการพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ เมื่อย้อนไปสมัยที่ได้จัดตั้ง สวทน. ขึ้นมาเป็นองค์กรด้านนโยบาย ผู้บริหารหน่วยงานได้ตั้งเป้าหมายสำคัญเอาไว้ เรียกว่า 3M หรือ 3 Measures ได้แก่ 1) ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้เป็น 1% ของจีดีพี ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2560 และให้ได้ 2% ของจีดีพีภายในปี พ.ศ. 2570 2) การลงทุนข้างต้นจะมาจากภาคเอกชน 70% และภาครัฐ 30% และ 3) การเพิ่มจำนวนบุคลากร โดยเฉพาะนักวิจัยให้เพิ่มเป็น 25 คนต่อหมื่นคน ภายในปี พ.ศ. 2560 และ 40 คนต่อหมื่นคน ภายในปี พ.ศ. 2570
“ในการทำนโยบาย วทน. ของประเทศ สิ่งที่สำคัญกว่าแผนที่เป็นตัวหนังสือคือการทำนโยบายใส่ไปที่คน ใส่ไปที่องค์กร และพยายามทำให้เกิดเครือข่ายของคนและองค์กร นโยบายก็จะแปลงจากตัวหนังสือไปสู่ผลงาน ผ่านคนและองค์กรที่เป็นเครือข่ายกัน ซึ่งหลักสูตร STIP เราพยายามสร้างระบบนิเวศนี้ให้เกิดขึ้น และในรุ่นที่ 5 เป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หวังว่าเมื่อจบจากหลักสูตรนี้ไป ผู้ที่เข้าอบรมจะได้ประโยชน์ใน 3 ส่วนหลัก คือ 1) พื้นฐานความรู้และทฤษฎีที่เกี่ยวกับนโยบาย 2) ได้ wisdom จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยทำงานในด้านที่เกี่ยวข้องกับ วทน. และ 3) การได้รู้จักกับผู้ร่วมอบรมที่มาจากต่างหน่วยงาน นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่าย อยากให้เป็นการหาเพื่อนที่มาทำงานร่วมกัน” ดร.กิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ก้าวข้ามความท้าทายสู่เป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยได้กล่าวถึง การที่ประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศ Middle Income Trap (MIT) หรือประเทศกับดักรายได้ปานกลาง หากจะหลุดจากกับดักนี้ได้ ประชาชนต้องมีรายได้ 12,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี คิดเป็น 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 240,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี
แนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้นั้น ดร.กิติพงค์ ชี้ว่าสิ่งสำคัญคือนวัตกรรม ประเทศไหนที่มีนวัตกรรมที่เข้มแข็ง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งโจทย์สำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะ 5 - 10 ปีข้างหน้าด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่ สอวช. อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ได้แก่ 1) ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการเพิ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDE) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม 2) ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก 3) การลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ โดยการนำ อววน. หนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน และ 4) พลิกโฉมระบบอุดมศึกษา พัฒนากำลังคน และการวิจัยขั้นแนวหน้ารองรับการพัฒนาในอนาคต ผ่านการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และการวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแห่งอนาคต
สำหรับหลักสูตร STIP มีวัตถุประสงค์ในการเปิดการอบรม เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการออกแบบนโยบาย วทน. ให้สอดคล้องกับบริบทการทำงานของบุคลากรทั้งในและนอกระบบ อววน. เป็นการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบาย วทน. โดยเน้นการจัดทำข้อเสนอนโยบายจริงเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถใช้ความรู้ที่ได้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายด้าน วทน. (Policy Network) ของประเทศ เพื่อร่วมการผลักดันนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยในรุ่นที่ 5 มีผู้เข้าร่วมการอบรมรวม 52 คน จาก 21 หน่วยงาน จัดการเรียนในรูปแบบ Hybrid ทั้งในรูปแบบ onsite และ online โดยมี Learning Platform ให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถเข้าเรียนได้ผ่านระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ STIPIAcademy.com ซึ่งในระบบจะสามารถดาวน์โหลดเอกสาร รับชมวิดีโอการสอน ส่งการบ้าน ดู feedback รวมถึงแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการอบรมได้