กสม. จัดงานวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2565 ชวนสังคมร่วมขจัดความรุนแรงในครอบครัว
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดงานวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การขจัดความรุนแรงในครอบครัว” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การยุติความรุนแรงในครอบครัว: ก้าวแรกการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคม” สรุปว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ กสม. มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา ความรุนแรงนี้มิใช่เพียงความรุนแรงทางกายภาพ เช่น การทำร้ายร่างกายหรือการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรุนแรงทางวาจาที่สร้างผลกระทบทางจิตใจให้แก่บุคคลในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงหัวหน้าครอบครัวและอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ด้อยกว่า อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ารากของปัญหาความรุนแรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่หล่อหลอมสังคมมาช้านาน
สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจำนวนมากไม่กล้าลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวหรือปกป้องสิทธิของตัวเองเพราะอับอายหรือกลัวถูกละเมิดซ้ำ ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็ง การช่วยเหลือเหยื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และการเยียวยาความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาที่ฐานราก เช่น การให้การศึกษาที่ต้องบ่มเพาะให้เยาวชนตระหนักและยืนหยัดในสิทธิของตนเองและร่วมปกป้องสิทธิของผู้อื่นด้วย
“ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหามาหลายกรณี อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และทุกคนในสังคม ที่จะต้องไม่เพิกเฉยหรือนิ่งดูดายต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางกาย วาจา และทัศนคติ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่และปราศจากความรุนแรงโดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว และทำให้ทุกวันเป็นวันสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต่างเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน” ประธาน กสม. กล่าว
จากนั้นมีการกล่าวแสดงทรรศนะด้านสิทธิมนุษยชน (Talk) โดย Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย และ Ms. Cynthia Veliko ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการฉายวีดิทัศน์สื่อซีรีส์ “Come through ครู..ทำ” จัดทำโดยความร่วมมือของสำนักงาน กสม. และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
ในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ร่วมสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงในครอบครัว” ร่วมเสวนาโดย นางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี4 นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ และศูนย์พึ่งได้ (OSCC) นางสาวภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการแผนงานการเลี้ยงดูทดแทนมูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และนางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ดำเนินรายการโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในช่วงท้าย กสม. ได้มอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 รางวัล ดังต่อไปนี้
1. นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป นักวิชาชีพสื่อมวลชนผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS ผู้มีประสบการณ์การทำงานสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาต่อเนื่องกว่า 27 ปี
2. นางสาวภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation)
3. นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
4. นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
5. นางสาวกูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
6. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ องค์กรที่มีผลงานเด่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
7. มูลนิธิกระท่อมพระสิริ องค์กรให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้ได้เข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และสิทธิในการทำงานเมื่อกลับสู่สังคมภายนอก