35 ปี แห่งการสร้างคลังอาหารในโรงเรียน ซีพีเอฟเดินหน้าหนุน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”
ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและเกษตรกร ในชนบทห่างไกลทั่วประเทศ กลายเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตแก่เยาวชนในชนบทได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหาร และโภชนาการที่ดีแก่เด็กนักเรียน และยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมายโรงเรียน 1,000 แห่ง ภายในปี 2568 เพื่อผลักดันสู่ “การสร้างคลังอาหารในโรงเรียน” เกิดห้องเรียนอาชีพจากการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ ขยายผลสู่ชุมชนเป็นคลังเสบียงในชุมชน
สมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เล่าว่า เครือซีพี ซีพีเอฟ ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตาม "โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน" สานต่อเป็น "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" มาตั้งแต่ ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่โปรตีนคุณภาพดี ช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ช่วยเสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 905 แห่ง มีนักเรียนกว่า 180,000 คน และยังพัฒนาแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน มีชุมชน 1,900 แห่ง ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ โดยมีเป้าหมายขยายโรงเรียนเพิ่มปีละ 25 แห่ง
"ซีพีเอฟเชื่อว่า ‘หากให้ปลาหนึ่งตัว จะมีกินหนึ่งวัน แต่การสอนจับปลา จะมีกินตลอดไป’ เมื่อเด็กและเยาวชน "อิ่มท้อง" จากการเรียนรู้วิธีการผลิตอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่บริษัทถ่ายทอด ควบคู่กับวิถีการบริโภคอย่างมีสุขโภชนาการ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการมีจิตใจแจ่มใส พร้อมเล่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั่นคือ สุขทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของเด็กและเยาวชน โครงการฯนี้ยังเป็นการสร้างคลังอาหารในโรงเรียน และพัฒนากลายเป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ในโรงเรียน ที่พร้อมเปิดรับชุมชนและโรงเรียนที่มีความสนใจ เข้ามาเรียนรู้อาชีพเกษตรเทคโนโลยีการจัดการฟาร์ม และการตลาดเพื่อนำโมเดลธุรกิจเกษตรฉบับย่อไปประยุกต์ใช้ในอาชีพต่อไป" สมคิด กล่าว
ความมุ่งมั่นเพื่อเยาวชน และตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตามปรัชญา “3 ประโยชน์” ของเครือซีพี ทำให้หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เห็นความสำคัญของโครงการฯ และเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC ที่ร่วมดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2543 ตลอด 23 ปี สนับสนุนโรงเรียน 142 แห่ง นักเรียนกว่า 38,000 คน ครอบคลุม 41 จังหวัด รวมถึง บมจ. สยามแม็คโคร ที่ร่วมผลักดันโครงการฯ สู่ความสำเร็จ
ล่าสุด ซีพีเอฟ มูลนิธิฯ ร่วมกับ JCC สนับสนุนโครงการเข้าสู่ปีที่ 23 โดยมอบโครงการที่โรงเรียนบ้านนางแลใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่ง เป็นหนึ่งใน 5 โรงเรียน ที่ได้รับการสนับสนุนในปีนี้ ศราวุธ ธนาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กๆได้ดำเนินกิจกรรมดีๆอย่างนี้ การร่วมโครงการฯ ทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์ ทั้งด้านอาหาร การฝึกวิชาชีพเลี้ยงไก่ไข่ทำให้มีความรับผิดชอบ โรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่แก่ชุมชน เพื่อนำมาบริหารจัดการโครงการในรุ่นต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนดำเนินโครงการเกษตรพอเพียง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว และปลูกข้าว โครงการฯนี้จึงเข้ามาเติมเต็มด้านโภชนาการอาหารมื้อกลางวันให้นักเรียนมากยิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มทักษะอาชีพด้านการเกษตรติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นพื้นฐานอาชีพในอนาคตได้ ที่สำคัญเด็กนักเรียนที่รับผิดชอบโครงการ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจมากที่มีโครงการฯนี้ เพราะช่วยฝึกทั้งความซื่อสัตย์ มีวินัย ตรงต่อเวลา และยังฝึกการทำงานเป็นทีม ทำให้สามัคคีกัน และยังช่วยให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากฝีมือการเลี้ยงไก่ไข่ของพวกเขาเอง และจะดูแลโครงการให้ดีที่สุด
35 ปีที่ผ่านมาของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็น 35 ปี แห่งการสร้างคลังอาหารในโรงเรียน นำไปสู่การบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน ทำให้มีรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผลเกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน