รายงานความยั่งยืนเครือซีพีติดท็อป 10 จากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ WBCSD ยกเป็นแบบอย่างเอกชนที่ดีในการจัดทำรายงานครบทุกมิติเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ตอกย้ำผู้นำธุรกิจไทยมุ่งสู่องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนระดับโลก
เมื่อเร็วๆนี้ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้เผยแพร่รายงาน Reporting Matters ปี 2022 โดยเป็นการดำเนินการวิเคราะห์และสรุปภาพรวมรายงานความยั่งยืนของประเทศสมาชิก WBCSD รวม 154 บริษัททั่วโลก ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่รายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ฉบับปี ค.ศ. 2021 ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดทำรายงานครบทุกมิติความยั่งยืน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดอยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลก ได้แก่ CRH plc, DSM N.V., EDP-Energias de Portugal S.A., Eni S.p.A, Environmental Resources Management Limited (ERM), Mondi Group, OCP group, Philip Morris Int’I SA, Sovay S.A. และStora Enso Oyj ทั้งนี้เครือซีพีถือเป็นบริษัทเอกชนไทยรายเดียวที่ได้คะแนนสูงสุดจนติดอันดับท็อป 10 ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจชั้นนำ นับเป็นความภาคภูมิใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยังสะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ตอกย้ำความพร้อมที่จะเป็นองค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก
นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความยินดีและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ในปีนี้ WBCSD ได้ยกย่องรายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ปี ค.ศ. 2021 ให้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่นๆ โดย WBSCD ได้ยกย่องรายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่มีความความครบถ้วนของการทำรายงาน (Completeness) ซึ่งพิจารณาจากรายงานของเครือฯ ที่ได้มีการกำหนดขอบเขตของรายงานที่ครอบคลุมทุกมิติด้านความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และได้มีการระบุรายละเอียดของมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำรายงาน รวมทั้งอธิบายถึงรายละเอียดของโมเดลการสร้างคุณค่า (value creation model) ที่อธิบายถึงปัจจัยนำเข้าคือ ทุนที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่กิจการ ซึ่งได้มีการระบุครบ 6 ด้าน(Six Capitals) ของแนวทางการจัดทำรายงานแบบบูรณาการ (IR Framework) โดยเป็นข้อมูลในเชิงปริมาณที่มีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์และผลประโยชน์ต่อทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นการระบุที่ครบถ้วนและเป็นไปตามหลักการสำคัญในการจัดทำรายงานความยั่งยืน จนทำให้ได้คะแนนสูงสุดติดในท็อป 10 ของการประเมินจาก WBSCD
นายสมเจตนา กล่าวต่ออีกว่าเครือซีพีได้มีการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เคยได้รับการยกย่องจาก WBCSD เมื่อปี ค.ศ. 2017 ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้เครือฯ ได้มีการดำเนินการศึกษาและวางแนวทางการพัฒนาการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี ค.ศ.2030 ของเครือฯ รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมายครอบคลุมทุกมิติด้านความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart - Health - Home จนทำให้ในปีนี้รายงานของเครือฯ ได้รับการยกย่องว่ามีการจัดทำรายงานที่ครบถ้วนและได้คะแนนสูงติดลำดับต้นๆ ร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก ถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จบนเส้นทางการพัฒนาสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้เครือซีพีพร้อมมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับโลกใบนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เครือซีพีต้องทำให้สำเร็จให้ได้
สำหรับ การเผยแพร่รายงาน Reporting Matters ปี ค.ศ. 2022 ของ WBCSD เป็นการดำเนินการจัดทำเผยแพร่รายงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 โดยปีนี้เป็นฉบับที่ 10 ถือเป็นปีสำคัญในการฉลองครบ 10 ปีของ Reporting Matter ซึ่งการคัดเลือกรายงานด้านความยั่งยืนทาง WBCSD ได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน 3 ด้านหลักคือ Principles, Content และ Experience โดยบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีและมีคะแนนการประเมินสูงสุดใน 10 ลำดับแรกทาง WBCSD ได้นำมาเผยแพร่ในรายงาน Reporting Matters