ซีพีเอฟ ดันโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร ต่อเนื่องปีที่ 20 ชวนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สอดคล้องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อ “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” เดินหน้าสู่ปีที่ 20 ปี หนุนเกษตรกรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ยึดหลัก 3Rs “Reduce-Reuse-Recycle” โชว์ตัวเลขปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกร 1,336,711 ลูกบาศก์เมตร ตลอดปี 2564
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ตามกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ด้วยการนำหลักการ 3Rs มาบริหารจัดการน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce), นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยมีเป้าหมายไม่ปล่อยน้ำทิ้งออกภายนอกฟาร์ม (Zero Discharge)
ที่ผ่านมาบริษัท มีโครงการประหยัดน้ำที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้น้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน น้ำที่ผ่านระบบไบโอแก๊ส (Biogas) และบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพ ยังนำกลับมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้ล้างคอกสุกรหลังจากจับออก ล้างพื้นถนน และลานจอดรถ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ควบคู่กับการนำน้ำที่มีมีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นพืช ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ในฟาร์ม ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า รวมทั้งผักปลอดภัยจากสารพิษ ที่บุคลากรร่วมกันปลูกในพื้นที่ว่างของฟาร์ม จนกระทั่งพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่รอบฟาร์มเห็นความสำเร็จจากการใช้น้ำปุ๋ยของบริษัท จึงประสานผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อขอรับน้ำไปใช้รดพืชผลทั้งในช่วงฤดูแล้งและช่วงปกติตลอดทั้งปี น้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด จึงช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกรได้ ทั้งสวนผลไม้ นาข้าว ต้นสัก ยางพารา ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง หญ้าเลี้ยงสัตว์ สวนไผ่ มะนาว กล้วย พืชผักสวนครัว ฯลฯ
“ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร และยังช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำค่าปุ๋ยแก่เกษตรกร พบว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีเกษตรกรในชุมชนจำนวน 63 ราย ขอรับน้ำจากการบําบัดจากฟาร์มสุกรไปใช้แทนปุ๋ยเคมีถึง 544,208 ลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่เพาะปลูก 1,601 ไร่ ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีแก่เกษตรกรได้ถึง 1,814,200 บาท ที่สำคัญเกษตรกรที่รับน้ำมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ก็ยังคงขอรับน้ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด สะท้อนความสำเร็จในการใช้น้ำปุ๋ยต่างๆ ถือเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สอดคล้องกับมาตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันการสูญเสีย และลดการใช้อย่างเป็นรูปธรรม” นายสมพร กล่าว
นอกจากนี้ คอมเพล็กไก่ไข่ของซีพีเอฟ ยังนำน้ำที่บำบัดแล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกเช่นกัน โดยในปี 2564 ได้จัดโครงการปันน้ำปุ๋ยและกากตะกอนสู่เกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน ด้วยการส่งน้ำและกากตะกอนที่ผ่านการบําบัดแล้วจากระบบ Biogas แบ่งปันน้ำปุ๋ยไปกว่า 143,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้กับพื้นที่การเกษตรมากกว่า 103 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 10 ราย