สะท้อนหลากหลายมุมคิด โลกป่วยขั้นวิกฤต กู้ได้อย่างไร? เปิดพื้นที่ชวนทุกภาคส่วนรวมพลัง เพื่อหาทางออก พร้อมลงมือทำ
โลกป่วยขั้นวิกฤต ทางรอดเดียวคือ ทุกคนต้องช่วยกันกอบกู้ เวทีสัมมนา ESG Collaboration: Commitment for Future ชวนทุกภาคส่วนตระหนักรู้และร่วมกันหาทางออก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ลงมือทำ เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น มีผลกระทบในทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
คณาเนศ เวชวิธี ทีมผู้พัฒนาโปรแกรมภาษามือและเกมส์ออนไลน์เพื่อการศึกษา ชั้น ม.6 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
คนรุ่นใหม่ชี้ 'การศึกษา-ความเหลื่อมล้ำ' สาเหตุหลัก
คณาเนศ เวชวิธี ทีมผู้พัฒนาโปรแกรมภาษามือและเกมส์ออนไลน์เพื่อการศึกษา ชั้น ม.6 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย มองว่า โลกป่วยมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่น่าเบื่อ ทำให้ความคิดหลายอย่างป่วยตาม รวมถึงขาดความรู้และความเข้าก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายวันนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง โดยนำนวัตกรรมมาใช้ในการศึกษายุคใหม่ ช่วยให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้ โลกยังป่วยจากความไม่เท่าเทียมจนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดทอนปัญหาได้ เช่น ทำให้คนพิการสื่อสารกับคนทั่วไปได้
“ทางรอดคือ ต้องทำให้ทุกคนตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของโลก เพราะจะทำให้เกิดความห่วงใยมากขึ้น และผู้ใหญ่ควรรับฟัง ไม่ตีกรอบความคิด พร้อมให้อำนาจคนรุ่นใหม่ตัดสินใจด้วย เพราะจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แม้ขณะนี้จำนวนประชากรของคนรุ่นใหม่จะมีเพียง 30% แต่ก็คือ 100% ของอนาคต นอกจากนี้ อยากฝากเรื่องของคนพิการ ว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้บกพร่องแค่อวัยวะใดอวัยะหนึ่งเท่านั้น แต่ก็สามารถทำงานได้ดีเหมือนคนทั่วไป”
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)
ความไม่เท่าเทียม ทำให้โลกป่วย 3 เรื่อง
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาความเท่าเทียม ทำให้โลกป่วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานไม่มากพอ อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต 2. ความเหลื่อมล้ำ จากการที่ในองค์กรมีผู้หญิงทำงานในระดับบริหารจำนวนน้อย และ 3.ความรุนแรง เพราะทุกวันนี้มีการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมากขึ้น ซึ่งการยอมรับความหลากหลาย สามารถนำเสนอมุมมองที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรอบด้านมากขึ้น
“การร่วมมือกันและสร้างพลังผู้หญิงมี 4 เรื่องที่ต้องทำ เรื่องแรกคือ จัดการตัวเอง เพราะเป็นข้อจำกัดรุนแรงที่สุด โดยต้องปรับวิธีคิดให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น เรื่องที่สอง เร่งเสริมทัศนคติใหม่เรื่องการทำงาน และมีระบบสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานสะดวกขึ้น เรื่องที่สาม ทำให้ผู้หญิงมีความกล้าและตระหนักรู้ด้วยตัวเอง โดยมีต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ และสี่ สร้างเครือข่าย หรือแพลตฟอร์มให้ผู้หญิงมาร่วมกันประสานพลัง ทำสิ่งดี ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม”
ดร.กิตติพงษ์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
'นวัตกรรม' พลังขับเคลื่อนสำคัญ พร้อม 3 กลไก
ดร.กิตติพงษ์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า โลกป่วยเป็นปัญหาเรื้อรังที่หากปล่อยไว้ก็จะวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาระดับสากลที่ทั้งโลกต้องร่วมมือกัน ต้องอาศัยทั้งต่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน คนรุ่นใหม่ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งนวัตกรรมมีส่วนสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้มีแนวทางใหม่ในการแก้ไขทั้งเรื่องเก่าและใหม่
“การมุ่งไปสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ ต้องมีการทำงานร่วมกัน ภายใต้โรดแมพและเป้าหมายเดียวกัน โดยแก้ปัญหาผ่าน 3 กลไก ประกอบด้วย 1. กลไกความร่วมมือ ต้องร่วมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. กลไกองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงใหม่ ๆ ซึ่งต้องมีการนำเข้าแลกเปลี่ยนกัน เพราะทำคนเดียวไม่ได้ 3. กลไกการสนับสนุน ซึ่งนโยบายสนับสนุนของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญมาก”
ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ชู 3 มิติทางสังคม ทางออกกู้โลกร้อน
ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจเห็นตรงกันว่าโลกร้อน ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อรายได้ แต่ที่น่าสนใจมีส่วนหนึ่งมองเป็นโอกาสหากรู้จักปรับตัว เพราะโลกต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการแก้ปัญหามี 3 มิติทางสังคม ได้แก่ 1. มิติสังคมพิชิตพลังงาน (Society of Green Energy & Efficiency) โดยต้องมีฐานข้อมูลการใช้พลังงานทั้งระดับประเทศและองค์กร เพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานและทุนสนับสนุน รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2. มิติสังคมไร้มลพิษ (Society of Zero Waste) โดยการออกแบบที่ลดการเกิดของเสีย มีระบบคัดแยกและจัดการของเสีย มีวินัยในการคัดแยกขยะ และทำให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. มิติสังคมบริโภคอย่างยั่งยืน (Society of Sustainable Consumption) มุ่งเน้นการออกแบบที่ยั่งยืน การจัดซื้อสีเขียว และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้บริโภค
“ทุกมิติจะสำเร็จได้คือทุกคนต้องลงมือทำ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนหรือองค์กรต่าง ๆ สิ่งที่เราต้องการอย่างมากคือ การสนับสนุนจากภาครัฐ ตั้งแต่การกำหนดแผนแม่บทการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เอื้อให้การเดินไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเกิดขึ้น เช่น การให้บีโอไอและลดหย่อนภาษี รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการใช้สิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยรัฐอาจเป็นผู้นำในการจัดซื้อจัดจ้าง”
ชัยพล จูเลียน พูพาร์ต ผู้ดำเนินรายการ