เผยผลสำเร็จ แก้ปัญหาความยากจนตรงจุด ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ มีกิน มีใช้ อยู่ได้อย่างยั่งยืน เตรียมผุด อำเภอต้นแบบ เคลียร์คนยากจนในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ พร้อมขยายผลทั่วประเทศ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 10 ในประเด็น “การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนให้ดีขึ้น โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ด้วยการประสานพลังความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานระดับพื้นที่ และภาคประชาสังคม โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด ผู้ประกอบการจาก ศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี (ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนจังหวัดพัทลุง โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง) และนางณัฐสุดา คณาโรจน์ ประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับประโยชน์ ตำบลเสนาคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ (ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่มีความสำคัญมากกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามที่ประเทศไทยมีเป้าหมายจะทำให้ประเทศของเราพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ประชาชนในแต่ละพื้นที่ยังมีช่องว่างระหว่างรายได้ที่ต่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมกับพื้นที่เกษตรกรรม ในจุดนี้จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาในเชิงพื้นที่ต่อไป โดยคำนึงถึงศักยภาพที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น การเข้าไปทำงานในส่วนนี้จึงต้องมีความแม่นยำ มีความเข้าใจ และมีข้อมูล ซึ่ง บพท. ได้เดินหน้าผลักดันโครงการการพัฒนาในเชิงพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มีตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่ในโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนเกิดขึ้นมากมาย
ด้าน ดร. กิตติ เปิดเผยถึงบทบาทของ บพท. ที่มีภารกิจในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยใช้ทุนวิจัยและการจัดการเป็นเครื่องมือ นำเอาบริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วใช้ข้อมูลความรู้ไปขับเคลื่อนให้คนและกลไกในพื้นที่ ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อตอบสนองบริบทประเทศ 3 เรื่องหลักที่ บพท. ตั้งไว้ ได้แก่ 1) การขจัดความยากจน ที่ต้องเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ที่ยากไร้จริงๆ และลงไปช่วยเหลืออย่างตรงจุด 2) เศรษฐกิจฐานราก ในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือเศรษฐกิจที่เติบโต แต่ไม่กระจายกลับ และ 3) เชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ในการพัฒนาเมืองและกระจายศูนย์กลางความเจริญ
“ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจน เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความท้าทายและซับซ้อน จากดัชนีความก้าวหน้าของคน พบว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่รวยสุดกับคนที่จนสุดในประเทศไทยต่างกันกว่า 20 เท่า ดังนั้นเราจึงต้องเข้าถึงคนจนจริง คนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง มีการทำแพลตฟอร์มที่เรียกว่า แผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalized Poverty Alleviation: PPP) ตั้งแต่ปี 2563 โดยเอาบริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง และตั้งคำถาม 3 คำถามเพื่อนำไปสู่การขจัดความจนในบริบทประเทศไทยคือ 1) คนจนอยู่ที่ไหนในระดับพื้นที่ 2) จนด้วยสาเหตุอะไร และเขามีทุนอะไรบ้าง 3) จะช่วยเหลือเขาอย่างไร ให้เขาลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของความจน คือการที่ตัวเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้” ดร. กิตติ กล่าว
ประเทศไทยเอง มีกลไกและยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เรียกว่า ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. ที่มีอยู่ทุกจังหวัด มีหน้าที่บริหารและขจัดความยากจน โดยใช้ระบบข้อมูลคนยากจนที่เรียกว่า TPMAP หรือ Thai People Map and Analysis Platform ส่วนของ บพท. ได้ตั้งแพลตฟอร์มงานวิจัยขึ้นมา โดยมุ่งเป้าไปที่จังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนและรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุดรวม 20 จังหวัดในปี 2563-2564 และได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นกลไกและโครงสร้างความรู้ในแต่ละพื้นที่ ในส่วนที่ 1 ได้ไปทำกลไกความร่วมมือกับ ศจพ. จังหวัด ทำระบบค้นหาสอบทานข้อมูลใหม่ ที่ใช้ข้อมูลจาก TPMAP เป็นฐาน ชักชวนชาวบ้าน ชุมชน มาทำระบบค้นหาและสอบทานกันเอง โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นตัวกลาง ส่วนที่ 2 ทำระบบวิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจน หรือ PPPConnext ส่วนที่ 3 คือระบบการส่งต่อความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะครัวเรือนยากจนดักดาน ครัวเรือนซ้ำซาก ที่ระบบสวัสดิการ ระบบสงเคราะห์ต้องเข้าถึงได้ทันที สำหรับครัวเรือนที่มีฐานทุน จะอยู่ในส่วนที่ 4 ใช้การออกแบบโมเดลแก้จน นำคนจนเข้ามาอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการชุมชน ระบบกองบุญ หรือเข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตของสินค้าชุมชน
ผลจากการขับเคลื่อนในปี 2563-2564 ของ บพท. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 10 แห่ง และได้สร้างกลไกความช่วยเหลือ โดยความร่วมมือกับ ศจพ. จังหวัด มีมหาวิทยาลัยนำทัพ และมีภาคส่วนประชาสังคมในพื้นที่มาร่วมมือกัน จากการค้นหาและสอบทานพบคนจนเพิ่ม 187,089 ครัวเรือน หรือ 850,029 คน จากคนจนเดิมที่พบเพียง 336,239 คน มีระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทั้งระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ ล่าสุดในระดับพื้นที่ส่งต่อความช่วยเหลือไป 15,696 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 5,454 ครัวเรือน ซึ่งตามแผนงานขจัดความยากจนจะจบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 3 ปี ด้วยการสร้างอำเภอต้นแบบในการเคลียร์คนจนให้ได้ทั้งอำเภอ และนำแนวทางนี้ขยายผลไปทั่วประเทศ
นางณัฐสุดา กล่าวในมุมของประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ตนยึดหลักการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันครอบครัวทำศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ขายบ้างแจกบ้าง อยู่ได้แม้ไม่ได้ร่ำรวย และได้อุทิศตนช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่สนับสนุน กองทุนข้าวปันสุข, กองทุนตากมัน ปัจจุบันมีการขยายผลไปเป็นกลุ่มเพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ ซึ่งชาวบ้านสามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไร เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว มีกิน มีใช้ และแบ่งปันญาติพี่น้อง เหลือก็นำไปขาย พึ่งพาตัวเองได้ เกิดความมั่นคงในชีวิต
ด้านผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นายมนัทพงศ์ จากศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สินค้าชุมชนโดยเฉพาะงานหัตถกรรมนั้นขายได้ยาก และที่ผ่านมาการสานกระจูดไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม ทำกันแบบง่ายๆ และใช้วิธีการผลิตแบบเดิม ทำให้มีราคาไม่สูง จำนวนผู้ผลิตก็ลดลง เนื่องจากรายได้ไม่พอค่าครองชีพ ต่อมาโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนจังหวัดพัทลุง โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้มาช่วยปรับรูปแบบการขาย พัฒนาสินค้า ทั้งปรับการใช้สีจากสีเคมีเป็นสีจากธรรมชาติ ช่วยลดต้นทุน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกับออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วย ทำให้จากเดิมที่ขายสินค้าได้ราคาชิ้นละ 100 บาท ก็เพิ่มมูลค่าเป็น 1,000 – 2,500 บาท และเมื่อพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนรวมกลุ่มชาวบ้านได้ เราก็ไปช่วยพัฒนาทักษะฝีมือ ตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างแบรนด์เป็นของชุมชน ทำให้คนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น สินค้าขายได้ดีขึ้น จากเดิมชาวบ้านมีรายได้วันละ 200 – 300 บาท เพิ่มเป็น 500 - 600 บาท ซึ่งการทำวิสาหกิจชุมชน สามารถช่วยชาวบ้านให้พึ่งพาตนเองได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ จำหน่ายสินค้าเองได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้สินค้าในชุมชนได้รับการยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับประเทศ