ปลัดพาณิชย์ยืนยันในที่ประชุมบอร์ด สปสช. การขอสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย แค่คำขอไม่มีสิทธิขวาง อภ.ผลิต หลังมีบริษัทยาข้ามชาติต่อสายตรงหา อภ. แจ้งยื่นขอสิทธิบัตรยาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบสิทธิบัตร 2 ใบที่ยื่นในต่างประเทศแต่ไม่ได้ถูกขอในไทย
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยระหว่างการประชุม บอร์ด สปสช. โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ว่า ตามที่ได้มีข่าวว่าบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่งแจ้งว่าได้ยื่นสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และได้ขอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หยุดผลิตหรือนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ชื่อสามัญนั้น ในฐานะที่ทำงานด้านการเข้าถึงยา และสิทธิบัตรยาจึงได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคประชาสังคมรวมกันเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว และพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีสิทธิบัตร 2 ใบในต่างประเทศ ได้แก่ 1. Molnupiravir and analogues (Markush structure) and their use as antivirals และ 2. Molnupiravir compound and its use as antiviral แต่สิทธิบัตรทั้ง 2 ใบนี้ไม่ได้ถูกนำมาขอสิทธิบัตรในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ อ้างว่าได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรที่คาดว่าเป็นไปได้นั้นจะเป็นเรื่องการขอใช้ยา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบการขอขึ้นทะเบียนตามที่บริษัทฯ อ้างไว้ได้ แต่หากเป็นเรื่องการใช้ยานั้น กฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่อนุญาตให้สิทธิบัตรตรงนี้
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การเน้นย้ำในประเด็นนี้เป็นเพราะยาที่สั่งซื้อจากบริษัทข้ามชาติจะมีราคาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคอร์ส ในขณะเดียวกันหาก อภ. ซื้อยาจากบริษัทในประเทศอินเดีย หรือสามารถผลิตได้เองในประเทศไทยจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 800 บาทต่อคอร์สเท่านั้น
“อยากให้ท่านรัฐมนตรี และรัฐบาลยืนยันอย่างแข็งขันให้องค์การเภสัชฯ เดินหน้าต่อไป อย่าเชื่อเพียงคำขู่ของบริษัทยาข้ามชาติว่าเขามีคำขอทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ อยากจะสนับสนุนให้เราสามารถพึ่งตัวเองด้านยาได้” น.ส.กรรณิการ์ ระบุ
ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ น.ส.กรรณิการ์ได้เสนอนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะสามารถซื้อยาได้ในราคา 800 บาทต่อคอร์ส หรือต่ำกว่านั้นได้ ส่วนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ก่อนหน้านั้นอนุมัติการสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 200,000 คอร์ส หรือประมาณ 10 ล้านเม็ด จากจำนวน 2 ล้านคอร์ส ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มียาโมนูพิราเวียร์ใช้ในประเทศไทย และอาการทางกายภาพของผู้ป่วยบางรายปฏิเสธยาฟาวิพิราเวียร์
สอดคล้องกันกับยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัทไฟเซอร์ แต่ยาแพกซ์โลวิดมีเอกสาร มีการรายงานผู้ป่วย ฯลฯ ทำให้สามารถเจาะจงได้ว่าเป็นยาที่จะนำมารักษาโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้ก็กำลังพิจารณา แต่ก็ได้มีการสั่งซื้อเบื้องต้นไปแล้ว จำนวน 50,000 คอร์ส โดยขณะนี้ อภ. กำลังเร่งในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เองก็ได้รับนโยบายที่ชัดเจนว่าหากเป็นยาที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องพิจารณาแบบสถานการณ์ฉุกเฉิน
“การได้เห็นภาคประชาชนช่วยกันสนับสนุนก็ยิ่งทำให้เกิดกำลังใจกับคนทำงาน พวกเราก็รับแรงกดดันทุกด้าน ในขณะนี้ยังผลิตไม่ได้เราก็จำเป็นที่จะต้องไปซื้อยาที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ขอให้คำยืนยันว่าถ้ามีโอกาสซื้อได้ถูกเมื่อไหร่เราก็ต้องเอาตรงนี้อยู่แล้ว” นายอนุทิน ระบุ
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบข้อห่วงใยและสถานการณ์กรณียาโมลนูพิราเวียร์และกระบวนการยื่นจดสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ที่ดําเนินการภายใต้หลักการข้อกฎหมายโดยคํานึงถึงประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้เข้าถึงยาที่จําเป็นอย่างเหมาะสม
ขณะที่ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องสิทธิบัตรจะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่ถูกกำหนด และจะไม่มีการหักหลบ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณียาฟาวิพิราเวียร์ที่ขณะนี้มีการผลิตใช้ในประเทศแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะมีการอ้างอย่างไร กฎหมายก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมตามที่ระบุไว้ในข้อกฎหมายอย่างแน่นอน
“ขอเรียนว่าคำขอสิทธิบัตรไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำมาห้าม สั่ง หรือบังคับคนอื่นว่าห้ามผลิต เนื่องด้วยเหตุที่ว่ามีการยื่นคำขอไว้แล้ว อันนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย ตราบใดที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่ว่าก็จะมีการนำไปขู่บอกว่าขอไปแล้ว ถ้าผลิตขึ้นจะต้องจ่ายค่าเสียหาย อันนี้เป็นลักษณะคำขู่ แต่ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ในการห้ามคนอื่นทำ ส่วนตัวคิดว่าการเข้าถึงยาของคนไทยเป็นสิ่งจำเป็น” นายบุณยฤทธิ์ ระบุ