สปสช. ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง หลังเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครบ 1 ปี ให้คำปรึกษา-ประสานส่งต่อ-ฝึกทักษะคนพิการในการดำรงชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมีนายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ
นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย เปิดเผยถึงช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เข้ามาเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ทำหน้าที่ให้บริการคนพิการในหลายๆ ด้าน ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารและประสานส่งต่อ ให้คำปรึกษาฉันเพื่อน รวมไปถึงบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ
สำหรับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ เกิดขึ้นจากการนำแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และเมื่อเห็นว่าประสบความสำเร็จจึงได้ตั้งศูนย์พระมหาไถ่เพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรก ดำเนินการเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพของคนพิการเป็นหลัก ภายหลังเมื่อพบว่าการทำงานดังกล่าวน่าจะให้คนที่ไม่ได้อยู่สังกัดองค์กรออกมาทำองค์กรเอง จึงได้ให้คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมออกมาตั้งเป็นศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ เมื่อประมาณปี 2560
“จะเห็นว่าใครก็ตามที่กลายเป็นคนพิการจะสูญเสียทั้งในด้านความมั่นใจ ความรู้สึก การเห็นคุณค่าในตัวเอง บางครั้งการออกจากโรงพยาบาลนักกายภาพ แพทย์ก็จะให้ฝึกแต่ในใจคนพิการก็รู้ว่าไม่ได้ใช้ เพราะไม่ต้องการให้ใครเห็น” นายอุดมโชค กล่าว
อย่างไรก็ดี การเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ทำให้ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ มีความเป็นทางการมากขึ้น เพราะมีหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศเข้ามาให้การรับรอง ฉะนั้นการพูดคุยกับคนพิการด้วยกันหรือองค์กรที่จะรับส่งต่อ เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขนั้นก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมีมาตรฐาน มีผู้รับรอง และสามารถมั่นใจได้ว่าคนที่เข้ามารับบริการจะมีความปลอดภัย
“การจะบอกว่าให้คนพิการออกสู่สังคมเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เขาเปิดประตูออกมาได้ คือมีคนพิการที่สามารถใช้ชีวิตภายนอกเข้าไปแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้เห็นว่าการเก็บชีวิตอยู่กับบ้านแตกต่างจากการที่ได้ออกมาข้างนอก ทุกคนอยากจะออกแต่มีความกลัวเป็นกำแพง ฉะนั้นเมื่อได้พูดคุยก็เกิดการเปิดใจและอยากกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ” นายอุดมโชค ระบุ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ฯ เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่บริหารงานโดยคนพิการที่ได้รับการอบรมฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ (IL Instructor) และจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างวิทยากร (TOT) ในหลักสูตรดังกล่าว และเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนพิการคนอื่นๆ ในศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้คนพิการโดยเฉพาะพิการช่วงแขน-ขาสามารถดำรงชีวิตได้โดยอิสระ
อย่างไรก็ตาม สปสช. ได้กำหนดให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถานบริการอื่นที่เข้าเกณฑ์ของ สปสช. เข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ โดยผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในปี 2562
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ก็มีการขึ้นทะเบียนศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการนำร่องใน 3 จังหวัดแรก คือที่ จ.นนทบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ปทุมธานี ให้เป็นหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ก็เป็น 1 ใน 3 ของศูนย์ฯ นำร่อง และเป้าหมายในปีนี้ก็อยากจะขยายให้ศูนย์บริการในลักษณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้คนพิการที่มีความต้องการรับบริการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
“เราก็คิดว่าเมื่อเรามาดูตรงนี้ก็จะเห็นเป็นรูปแบบที่ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์แล้วปีหน้าเราก็จะขยายทั้งในแง่ของศูนย์ในลักษณะนี้ไปทั่วประเทศและก็จะได้มีขยายบริการไปยังคนพิการต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว
อนึ่ง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมทีม IL instructor ไปแล้ว 1 รุ่น มีการประชุมออนไลน์ทีมทุกสัปดาห์และลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พนัสนิคม อ.บ่อทอง อ.ศรีราชา อ.บางละมุง รวมกว่า 20 คน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการไปแล้วจำนวน 3 คน และจะเริ่มในปี 2565 อีก 3 คน นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านอื่นๆ ทั้งการประชาสัมพันธ์สิทธิการรักษาพยาบาล ท.74 ให้กับคนพิการในพื้นที่ จัดบริการผู้ช่วยคนพิการจำนวน 18 คน เพื่อดูแลคนพิการจำนวน 30 คน ตลอดจนจัดบริการตามภารกิจอื่นๆ ของศูนย์บริการคนพิการทั่วไปอีก 20 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso