เครือซีพี ติด Top 3 บริษัทยั่งยืนระดับโลก ใน “กลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates” (IDD : Industrial Conglomerates) จากการประเมินความยั่งยืนขององค์กร โดย S&P Global
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี สร้างชื่อเสียงด้านความยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยล่าสุดได้รับการประเมินดัชนีความยั่งยืน ประจำปี 2564 จาก S&P Global โดยได้คะแนนอยู่ลำดับที่ 3 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates โดยลำดับหนึ่งคือ ซีเมนส์ (Siemens AG) กลุ่มบริษัทพลังงานจากประเทศเยอรมนี ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจ เอส.เค (SK Inc.) กลุ่มบริษัทธุรกิจด้านไอทีจากประเทศเกาหลี ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทยั่งยืนระดับโลกตามวิสัยทัศน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะองค์กรเอกชนไทยที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก จึงได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนขององค์กรกับ S&P Global ซึ่งมีการประเมินผลแบบเดียวกันกับ Dow Jones Sustainability Indices : DJSI ในปี 2564 เป็นปีแรก ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำอันดับที่ 3 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates จากจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 44 บริษัท โดยได้รับการพิจารณาและประเมินจากผลงานที่โดดเด่นในหลายด้าน อาทิ จรรยาบรรณธุรกิจ การจัดการนวัตกรรม กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของเครือซีพีบนเส้นทางสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านความยั่งยืน
นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีที่มีมาอย่างยาวนานครบหนึ่งศตวรรษในปีนี้ โดยยึดมั่นในหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ทั้งต่อประชาชนและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารองค์กรภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนของเครือซีพีสู่ปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 3Hs คือ Heart - Living Right, Health - Living Well และ Home - Living Together ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ทั้งนี้ เชื่อว่าการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือซีพีจะเป็นแรงสำคัญก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร ประเทศไทยและสังคมโลก
“เครือซีพีมีการดำเนินธุรกิจใน 8 สายธุรกิจหลัก 14 กลุ่มธุรกิจ และลงทุนอยู่ใน 21 ประเทศ มีพนักงานรวมกว่า 4.5 แสนคน เรากำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ที่มีความท้าทายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกที่มีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของทุกกลุ่มธุรกิจในเครือที่จะต้องรวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 3 บริษัทแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมจึงเป็นความภาคภูมิใจของเครือซีพีที่ตอกย้ำความสำเร็จ และเป็นกระจกสะท้อนว่าเราได้บรรลุเป้าหมายไปอีกขั้นในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้สังคมและประเทศได้ตรงตามทิศทาง และเป็นไปตามหมุดหมายที่เราตั้งเป้าไว้”นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า การได้รับการประเมินความยั่งยืนในระดับสากลนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเครือซีพีที่มุ่งสู่การเป็น “องค์กรแห่งความยั่งยืน” รวมไปถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันวาระของโลกในหลายประเด็น ได้แก่ การสร้างงานสร้างอาชีพ ดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ในโอกาสที่เครือซีพี ครบรอบ 100 ปี ในปีนี้ ถือเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของเครือ ที่การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในหลายด้าน โดยในปีนี้เครือซีพีได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรในระดับ LEAD ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN Global Compact รวมทั้งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมสูงที่สุดในโลกจากสถาบัน Ethisphere นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจในเครือซีพีประกอบด้วย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ประจำปี 2564 อย่างต่อเนื่องหลายปี ถือเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของเครือซีพีที่ดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ