ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมทบทุน 40 ลบ. สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยคนไทย แก่โครงการพัฒนาวัคซีนใบยา และ ChulaCov19
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่พัฒนาโดยคนไทย ร่วมสมทบเงินบริจาครวม 40,000,000 บาท ผ่าน 2 องค์กร ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาวัคซีนใบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) โครงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สอดคล้องนโยบายภาครัฐที่เดินหน้าสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่เป็นของคนไทยเองให้ประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศจะเริ่มคลี่คลาย แต่การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที การศึกษาค้นคว้าและผลิตวัคซีนที่เป็นของคนไทยเองนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมด้านการสาธารณสุขของคนไทย รวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนและสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยร่วมบริจาคเงินรวม 40,000,000 บาท แก่โครงการพัฒนาวัคซีนใบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โครงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อการพัฒนาวัคซีนของคนไทยซึ่งต้องการทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมโดยคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศไทยในระยะยาว
นายมกร พงษ์ธนพฤกษ์ กรรมการมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เปิดเผยว่า สำหรับวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา ผลงานจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด protein subunit vaccine จากใบยาสูบที่วิจัยและพัฒนาได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ให้ผลิตวัคซีนตามมาตรฐานการผลิตเพื่อทำการทดสอบในมนุษย์ โดยทำการผลิตส่วนต้นน้ำ ณ โรงงานต้นแบบการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนด้วยพืช ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และส่งต่อไปทำให้โปรตีนบริสุทธิ์ ณ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด จากนั้นนำไปผสมและบรรจุขวด ณ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยวัคซีนดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มเปิดรับอาสาสมัครตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้อาสาสมัครทั้งหมดได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นวัคซีนดังกล่าวมีผลความปลอดภัยเป็นที่น่าพอใจและอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ระหว่างนี้พร้อมเดินหน้าวิจัยวัคซีนรุ่นต่อไปทันทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าวัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA สัญชาติไทย ซึ่งได้มีการทดสอบในอาสาสมัครระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง พบว่าวัคซีนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ได้สูงมากและสูงใกล้เคียงกับวัคซีน Pfizer/BNT และเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่น พบว่ามีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac ด้วย จุดเด่นของ วัคซีน ChulaCov19 mRNA นี้คือ ความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงมากต่อเชื้อดั้งเดิมและสูงพอที่จะยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทั้งสี่สายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ แอลฟา (Alpha), เบตา (Beta), แกมมา (Gamma), และเดลตา (Delta) ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยวัคซีน ร่วมมือกับบริษัทไบโอเนท เอเชีย เพื่อดำเนินการกระบวนการผลิตวัคซีนจำนวน 30,000 โดส ในประเทศไทย สำหรับเพื่อใช้ทดสอบในอาสาสมัครระยะที่สาม ซึ่งผลิตและบรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว กำลังทำการตรวจทดสอบคุณสมบัติและมาตรฐานของวัคซีน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของวัคซีนได้มาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานสากล และดำเนินการเตรียมขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในการทดสอบในอาสาสมัครระยะที่สามประมาณ 3,750 คน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนมกราคม 2565 และหากผลการทดสอบในระยะสามนี้ยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงไม่ด้อยกว่าของบริษัท Pfizer คณะวิจัยและพัฒนาจะดำเนินการเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับการใช้กับประชาชนในภาวะฉุกเฉินต่อไป ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้ เพื่อคิดค้นและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการสมทบทุนผ่านโรงพยาบาล องค์กร หน่วยงาน และมูลนิธิต่างๆ ต่อเนื่องเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 กว่า 112 ล้านบาท ในปี 2564 เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ หวังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากสถานการณ์ของ COVID-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย