เด็กไทยคิดผลิตหนังเทียมจากขยะพลาสติก รับรางวัล Special Award จาก Dow
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัล Special Award จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ด้วยโครงงาน “แผ่นหนังเทียมสำหรับการผลิตกลองตุ๊กจากขยะขวดพลาสติก HDPE ร่วมกับฝุ่นขี้เลื่อยไม้ยางพารา” ช่วยลดต้นทุนในการผลิตหนังกลองตุ๊กซึ่งเป็นสินค้าในท้องถิ่น ลดมลพิษจากกระบวนการผลิตหนัง และเพิ่มคุณค่าของพลาสติกใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีนางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก Dow เป็นผู้ร่วมมอบรางวัลในงาน “Prime Minister’s Science Award 2021” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสหากรรมการผลิตหนังวัว และนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน น้อง ๆ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จึงได้ทำการพัฒนาหนังเทียมที่ทำจากขยะขวดพลาสติก HDPE ร่วมกับฝุ่นขี้เลื่อย ไม้ยางพารา โดยเริ่มจากการหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของวัสดุที่นํามาขึ้นรูป แล้วนําไปทดสอบการขึ้นรูป จากนั้นได้ทดสอบคุณสมบัติเชิงกล 3 คุณสมบัติ ได้แก่ ความแข็งที่ผิว การทนต่อแรงดึง และความต้านทานการสึกหรอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนังเทียมที่ผลิตขึ้นจากขยะพลาสติกนี้สามารถนํามาใช้ทดแทนหนังแท้ได้ โดยในโครงการนี้ได้นำหนังเทียมไปประยุกต์ใช้กับ “กลองตุ๊ก” ซึ่งเป็นกลองชนิดหนึ่งที่ใช้ในการประกอบการแสดงละครชาตรี โนรา และหนังตะลุง ซึ่งเดิมแผ่นหนังที่นิยมนำมาใช้มักทำจากหนังลูกวัว
ด้วยแนวคิดในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ ทำให้โครงงานเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัล Special Award ซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) พร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท จากโครงการ “Prime Minister’s Science Award 2021 โดยรางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนที่ได้ทำคุณประโยชน์และเป็นตัวอย่างอันดีด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติครูวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนให้มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และพัฒนาศักยภาพเพื่อความพร้อมต่อเวทีนานาชาติ รวมทั้งเพื่อช่วยกระตุ้นให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจ และสนับสนุนส่งเสริมให้ครูมีกำลังใจมากขึ้น ร่วมผลักดันการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
นางภรณี กองอมรภิญโญ กล่าวว่า “Dow เองเป็นบริษัทวัสดุศาสตร์ (Materials science) ที่มีความมุ่งมั่นด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็นของการลดคาร์บอน และแก้ปัญหาขยะพลาสติก เราเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศร่วมส่งโครงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และน่าสนใจเข้ามามากมาย และหวังว่าการประกวดนี้จะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และหวังว่าจะได้เห็นการต่อยอดของโครงงานนี้ในการนำพลาสติกใช้แล้วมาทำประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อไป เพราะพลาสติกแท้จริงแล้วไม่ใช่ขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่นำมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้ไม่รู้จบ”