เลือดสำรองเพื่อใช้ในการรักษาและเหตุฉุกเฉิน ยังจำเป็นต้องใช้ทุกวัน โรงพยาบาลศิริราชวอนขอผู้มีสุขภาพดี ร่วมแบ่งปันโลหิตให้ทุกชีวิตที่รอคอย
สถานการณ์ธนาคารเลือดศิริราชในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่โรงพยาบาลศิริราชยังมีความจำเป็นต้องรับบริจาคเลือด เพื่อใช้ในการรักษาทั้งผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยผ่าตัดและผู้ป่วยเคสฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง ระบุแม้สถานการณ์ขณะนี้เริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังคลังเลือดให้สมดุลกับภาวะเร่งด่วนทุกขณะ วอนผู้มีสุขภาพดี ร่วมบริจาคเลือดเพื่อแบ่งปันให้กับทุกชีวิตที่รอคอยความหวังด้วยกัน
รศ.ร.อ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลกล่าวถึงสถานการณ์ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลศิริราชขณะนี้ว่าเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเร่งประชาสัมพันธ์ขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แต่ละวันทำการมีผู้มาบริจาคเลือดกว่า 100 ยูนิต ส่วนวันหยุดเพิ่มขึ้นเป็น 150-200 ยูนิต ทำให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถนัดคนไข้ซึ่งจำเป็นต้องรักษาและผ่าตัดบางราย ที่เลื่อนนัดไปก่อนหน้านี้กลับมาทำการรักษาเข้ามาใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขาดแคลนเลือดยังคงค่อนข้างอ่อนไหว หากคนไข้ที่เข้ารับการรักษาต้องใช้เลือดกรุ๊ปเดียวกันหลายราย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเลือดบางกรุ๊ปตามมา ซึ่งทีมงานทุกฝ่ายใน รพ.ได้พยายามวางแผนให้เกิดความแม่นยำทุกขณะ เพื่อให้การบริหารจัดการเลือดในคลังเกิดความสมดุลที่สุด
ตลอดระยะ 2 ปี วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อการรักษาและรับบริจาคเลือดอย่างมาก รพ.ศิริราชมีคนไข้อาการหนักที่จำเป็นต้องใช้เลือดทุก ๆ วัน ทั้งคนไข้โรคเลือดที่ต้องใช้เลือด คนไข้โรคมะเร็งที่ต้องผ่าตัดเร่งด่วน โรคหัวใจบางอย่างถ้าผ่าตัดถูกเลื่อนออกไปนานคนไข้อาจเสียชีวิตได้ การปลูกถ่ายอวัยวะต้องรีบทำ ผู้ป่วยฉุกเฉินเคสอุบัติเหตุร้ายแรง ผู้ป่วยอาการหนัก แม้กระทั่งผู้ติดเชื้อโควิดอาการหนักบางช่วง ล้วนต้องรอคอยความช่วยเหลือจากผู้บริจาคเลือดตลอดเวลา”
เลือดที่ขาดแคลนบ่อยใน รพ.ศิริราช คือเกล็ดเลือดกับเม็ดเลือดแดง เพราะอายุการจัดเก็บที่สั้น เม็ดเลือดแดงเก็บได้ไม่เกิน 42 วัน เกล็ดเลือดเก็บได้เพียงแค่ 5 วัน ส่วนพลาสมาเก็บได้เป็นปี ทั้งนี้ คนที่มาบริจาคเลือดส่วนใหญ่ จะสัมพันธ์กับความชุกในหมู่เลือดของประชากรคนไทย นั่นคือ เลือดกรุ๊ป A, B, O, AB หมู่เลือดที่ไม่ค่อยขาดคือกรุ๊ป AB กรุ๊ป ส่วนเลือดกรุ๊ป A และ O มักจะขาดแคลนเป็นระยะ เพราะมีคนไข้ที่ต้องถ่ายเลือดกรุ๊ปนี้จำนวนพอสมควร
ทั้งนี้ สัดส่วนคนไข้ของศิริราชเป็นโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย ลูคีเมีย ประมาณ 20-30% นอกจากนี้ยังมีคนไข้โรคมะเร็ง คนไข้อาการหนักที่ต้องเจาะเลือด เลือดออกทางเดินอาหาร กลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์คนไข้สูตินรีเวช การคลอดลูก มะเร็งนรีเวช คนไข้เด็กที่เป็นโรคเลือด โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เลือดถึง 1 ใน 3 ของคลังสำรอง สำหรับกลุ่มคนไข้ผ่าตัดเคสใหญ่ คนไข้กลุ่มนี้ถ้าไม่มีเลือดสำรองจะผ่าตัดไม่ได้ ในฐานะที่เป็น รพ.ใหญ่จึงต้องมีความพร้อมเรื่องเลือดเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ทุกคนให้ทันเวลาและปลอดภัยที่สุดทุกขณะ
“วันที่วิกฤตหนัก เลือดมีน้อยจนต้องใช้เฉพาะรายที่จำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น เราต้องร้องขอความช่วยเหลือทางสื่อต่าง ๆ ทุกทางที่ทำได้ เพื่อให้ผู้คนตระหนักว่า นอกจากสถานการณ์โควิดที่กำลังวิกฤตแล้ว สถานการณ์ขาดเลือดก็วิกฤตไม่แพ้กัน ผู้บริจาคเลือดได้ทยอยเข้ามาช่วยบริจาคเลือด รวมทั้งได้รับการบริจาคเลือดจากทหารหน่วยต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์เลือดในคลังค่อย ๆ พลิกฟื้นขึ้นมา ต้องขอขอบคุณทุกความช่วยเหลือที่ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วย”
การถ่ายเลือดให้คนไข้ครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นที่รพ.ศิริราช และในปี พ.ศ.2489 มีการจัดตั้ง “หน่วยถ่ายเลือด” เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเลือด หน่วยงานหลักที่ดูแลขณะนั้นคือ ฝ่ายศัลยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ และสูติแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เลือดในการผ่าตัดจำนวนมาก อาจารย์แพทย์ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาธนาคารเลือดของศิริราชให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง ปัจจุบันหน่วยถ่ายเลือดศิริราช ขยายตัวตามขนาดของ รพ. และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช” มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรฐานสูงตามหลักสากล และถึงพร้อมด้วยนวัตกรรมทันสมัย เพื่อให้สามารถรักษาและช่วยเหลือคนไข้อย่างเร่งด่วน ด้วยความราบรื่นและปลอดภัยที่สุด สถานที่ใหม่ที่กว้างขวางทำให้สามารถดำเนินการรับบริจาคเลือดโดยมีระยะห่างที่ปลอดภัยในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่สำคัญเราสามารถหาเลือดสนับสนุนการรักษาคนไข้ของ รพ.ศิริราชเกือบ 100% จึงช่วยแบ่งเบาภาระที่จะต้องขอเลือดจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย
ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช มีระบบคัดกรองความเสี่ยงจากโควิด-19 ตามมาตรฐานสากล มีการประเมินความเสี่ยงทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคเลือด ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถบริจาคเลือดได้ โดยเว้นระยะห่างก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด 7 วัน แต่หลังฉีดวัคซีนหากพบว่ามีอาการข้างเคียง รอให้หายดีก่อนค่อยมาบริจาคเลือดในภายหลังได้โดยให้เว้นระยะ 14 วันหลังฉีดวัคซีน
ผู้สนใจสามารถบริจาคเลือดได้ที่ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 3 รพ.ศิริราช ทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. หรือนัดผ่านแอพ Siriraj Connect ดำเนินตามขั้นตอน กรอกข้อมูล พร้อมนัดหมายวันเวลาบริจาคเลือดล่วงหน้า และหากต้องการบริจาคเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อผ่านหน่วยรับบริจาคเลือดนอกสถานที่ของศิริราช สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2414 0100, 0 2414 0102
รศ.ร.อ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล กล่าวว่า “ในฐานะแพทย์ที่ดูแลธนาคารเลือด จึงขอเชิญชวนให้ท่านผู้มีจิตศรัทธา ที่มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยกันมาบริจาคเลือดเพื่อคนไข้ที่รอคอยความหวัง ส่งผ่านความเมตตาและความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยทุกคน ให้มีโอกาสได้รับการรักษาที่เหมาะสม ถูกต้อง ตามเวลา โรคจะได้บรรเทาเบาบางและคนไข้ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เราจะผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ก็ด้วยน้ำใจจากการบริจาคเลือดอย่างต่อเนื่อง เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรามีความพร้อมตลอดเวลา ก็จะสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากที่สุด”
การบริจาคเลือดเป็นการแบ่งปันที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพียงท่านมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง งดดื่มสุรา งดอาหารที่มีไขมันสูง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการบริจาคเลือด มีน้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป อายุตั้งแต่ 18-65 ปี ไม่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่มีประวัติโรคติดต่อได้ผ่านการให้เลือด ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถเข้ารับการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อบริจาคโลหิตที่ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราขได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
มาร่วมกันเป็นสะพานบุญ เพื่อแบ่งปันโลหิตให้ทุกชีวิตที่รอคอยด้วยกัน