บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่า และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจก หนุนการใช้พลังงานสะอาด สร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ได้ประกาศแผนกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs ) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ทรัพยาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างต่อเนื่อง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการผลิต ขยะอาหาร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) และเป้าหมายการลดขยะอาหารในการดำเนินธุรกิจเป็นศูนย์ ในปี 2573 ควบคู่กับการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สอดคล้องตามเป้าหมาย "ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ" ของสหประชาชาติ ร่วมเดินหน้าเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Economy)
“ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่าระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ในการดำรงชีวิตของคน สัตว์ และพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจ สังคม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มีความตระหนักในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืน สู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Generation Restoration)” นายวุฒิชัย กล่าว
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “จากภูผาสู่ป่าชายเลน” ตลอดจนตั้งเป้าหมายภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ อาทิ มีเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มขึ้นในเบื้องต้นอีก 20,000 ไร่ เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สะสม 232,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2573 ต่อยอดความสำเร็จของบริษัทฯ ที่ปลูกป่าไปแล้วมากกว่า 10,000 ไร่ โดยปลูกฝังพนักงานทุกคนให้ลงมือทำในระดับบุคคลร่วมปลูกต้นไม้ อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังสนับสนุนแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก จากการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบให้เหมาะกับธุรกิจและฟาร์มปศุสัตว์ ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (Fossil Fuels) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งพลังงานชีวมวล (Bio Mass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังโรงงานและอาคารสำนักงาน (Solar Rooftop) แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) และแบบลอยน้ำ (Solar Floating) โดยในปี 2563 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของ ซีพีเอฟ คิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญการกับการลดใช้ทรัพยากร เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำคิดเป็น 42% ของการใช้น้ำทั้งหมด ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณสมบัติสามารถใช้ซ้ำ หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือ ย่อยสลายได้ 99.9% และยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 790 รายการ ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นและฉลากลดโลกร้อน การพัฒนานวัตกรรมเนื้อจากพืช Meat Zero เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้ในปี 2563 บริษัทฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2.071 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี สำหรับปีนี้ ซีพีเอฟ ได้ประกาศความสำเร็จในกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน “CPF 2030 Sustainability in Action ยั่งยืน ได้ด้วยมือเรา” คือ กิจกรรม“กล้าจากป่า พนาในเมือง” ส่งเสริมให้พนักงานนำต้นไม้ไปปลูกในพื้นที่ของตัวเอง โดยหลังจากเปิดตัวตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 จนถึงปัจุบัน สามารถปลูกต้นไม้ 27,196 ต้น จากเป้าหมายปลูกต้นไม้ในปีนี้ 20,000 ต้น ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 215,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ และภายในปี 2568 มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น และโครงการ “กินเกลี้ยง เลี้ยงโลก” เป็นการรณรงค์ให้พนักงานและครอบครัวบริโภคอาหารให้หมดจาน ไม่ให้เกิดขยะเหลือทิ้งสามารถลดขยะอาหารได้ 14,539 จาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,650 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายในการลดขยะอาหารให้ได้ 100,000 ภายในปี 2568