สสส. – เครือข่ายงดเหล้า ชวนลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย หยุดวงจรระบาดโควิด-19 ลดปัจจัยเสี่ยง ถอดบทเรียน 3 พื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ ผนึกพลังท้องถิ่น ดันนโยบายระดับชาติ ภาคธุรกิจ ประชาสังคม ขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดภัยไร้อบายมุข เผยผลสำรวจเกือบทุกจังหวัดจัดลอยกระทงปลอดเหล้าเกือบ 100%
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายได้จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อทบทวนและระดมสมอง เกี่ยวกับการจัดงาน “ลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ผ่าน FB live เครือข่ายงดเหล้า โดยนายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และ สคล. สนับสนุนให้เกิดการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า ทำให้เกิด “พื้นที่ปลอดภัย” ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการป้องกันปัจจัยเสี่ยง ความสำเร็จจากการทำงาน ทำให้ปัจจุบันมีงานลอยกระทง 3 พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ งานยี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ งานเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย และงานกระทงสายไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก ซึ่งในอดีตทั้ง 3 พื้นที่ เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เพื่อโฆษณาสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และความไม่ปลอดภัยจากเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่การขับเคลื่อนงานลอยกระทงปลอดเหล้าหลายปีที่ผ่านมาของทั้ง 3 จังหวัดพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะชุมชนท้องถิ่นและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ตั้งแต่เรื่องการกำหนดทิศทางของการอนุรักษ์คุณค่าวิถีวัฒนธรรมที่สะท้อนความสำเร็จยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ
น.ส.ทัศนีย์ ศิลปะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่เป็นต้นแบบการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดงานที่เน้นความหมายในแต่ละวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัด และการส่งเสริมสังคมสุขภาวะที่เอื้อต่อการให้ทุกคนมีสุขภาพดี การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าแสดงให้เห็นความเข็มแข็งของชุมชน และจากการทำงานใน 3 พื้นที่สำคัญ พบว่าแต่ละจังหวัดมีรูปแบบการทำงานที่โดดเด่นแตกต่างกันไป นำมาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ทั่วประเทศไปขยายผลได้ รวมถึงการลงลึกด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม ให้เหมาะสมกับบริบทอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ริเริ่มงานลอยกระทงปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้มีงานลอยกระทงปลอดเหล้า 99 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยในช่วง 7 ปีแรกเน้นรณรงค์ให้เกิดการจัดงานแบบปลอดเหล้า จากนั้นได้พัฒนาสู่การจัดการความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ประทัดยักษ์ โคมลอย และเน้นการให้คุณค่าและความหมายของการลอยกระทง ส่งผลให้ไม่มีการทะเลาะวิวาทภายในบริเวณงาน อุบัติเหตุทางถนนลดลง ยอดจองห้องพักของโรงแรมเพิ่มมากขึ้น งานลอยกระทงปลอดเหล้าจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้จัดงาน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน จากผลสำรวจ ปี 2563 พบว่า มีการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า ร้อยละ 74.40 ของงานลอยกระทงทั่วประเทศ แต่ยังต้องเฝ้าระวังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังคงพยายามเข้าไปแทรกแซง เพื่อให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสุราและลานเบียร์ตามงานต่างๆ
“เครือข่ายงดเหล้า และสสส. จะร่วมผนึกกำลังกับท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมในงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในพื้นที่ต่างๆ ยกระดับงานบุญประเพณีทุกจังหวัดปลอดภัย ห่างไกลอบายมุข สร้างวิถีวัฒนธรรมเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เน้นการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและต่อยอดเชิงเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ให้มากยิ่งขึ้น” นายวิษณุ กล่าว
พระครูสุมณฑ์ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ในอดีตการจัดงานลอยกระทงของจังหวัดทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ คนสุโขทัยมาเที่ยวงานลอยกระทงน้อยลงเพราะเห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงพยายามแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการรณรงค์เรื่องเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ผลักดันให้จังหวัดกำหนดนโยบายให้งานลอยกระทงเป็นงานปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ โดยตั้งแต่ปี 2550 จังหวัดสุโขทัยมีมติให้จัดงานปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ นำนโยบายไปปฏิบัติตาม โดยทำข้อตกลงกับทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มในบริเวณงาน ติดป้ายรณรงค์ ตรวจเตือนโดยเจ้าหน้าที่และเยาวชนในพื้นที่ บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง เพื่อทำให้พื้นที่จัดงานลอยกระทงกว่าหมื่นไร่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ไม่มีการดื่มเหล้า และกลายเป็นวัฒนธรรมว่ามาเที่ยวงานลอยกระทงสุโขทัยต้องไม่ดื่มไม่สูบ
นายธงชัย ยงยืน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า งานลอยกระทงที่บริเวณริมแม่น้ำปิง และสะพานนวรัตน์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดเสี่ยงทุกปี เพราะมีการตั้งลานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีอุบัติเหตุประทัดยักษ์ระเบิดใส่มือนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากโคมลอยต่อเครื่องบินและบ้านเรือน ทำให้ในปี 2550 ได้เริ่มจัดงานปลอดเหล้าขึ้น มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมรณรงค์เพิ่มเติมจาก สคล. และสสส. อาทิ สำนักงานสรรพสามิต สำนักงานสาธารณสุขและเครือข่ายนักศึกษา 7 สถาบัน รณรงค์ให้จัดเวทีกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เน้นการรักษาวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยมีการร่วมกันกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการจัดงานทุกปี
น.ส.ศิวะพร คงทรัพย์ ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตาก กล่าวว่า งานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงของจังหวัดตาก มีจุดเด่นในเรื่องการเป็นกระทงพระราชทาน เน้นวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น กระทงทำจากกะลามะพร้าว การฟั่นเทียน การบูชาพระแม่คงคา และการทอดผ้าป่าน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ และกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะ16 ชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยมีแนวทางป้องกันปัจจัยเสี่ยงจะใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยปี 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ลงนามบันทึกข้อตกลงให้งานบุญประเพณีของจังหวัดเป็นงานปลอดเหล้าทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 พึงพอใจต่อการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า