สสส. โชว์ผลงาน 20 การเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะสังคมไทย ในโอกาสครบรอบ 20 ปี สร้างสังคมปลอดควัน-วัฒนธรรมไร้แอลกอฮอล์-ถนนปลอดภัย-ลดความเหลื่อมล้ำ-ชุมชนเข้มแข็งฯลฯ ชู 14 นวัตกรรมสุขภาพ 25 ชิ้นงานที่จดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ พร้อมขอบคุณภาคีสุขภาพกว่า 2 หมื่นภาคี พลังขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน
........................
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “20 BIG CHANGES” พลังภาคีสร้างสุขสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะคนไทย เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี สสส. ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย สสส. อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.), ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และ ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ, กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. และที่ปรึกษากรมอนามัย (ด้านทันตสาธารณสุข) และผู้ร่วมเสวนาทางออนไลน์ตัวแทนภาคีทั่วประเทศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปี ของ สสส. ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มี 4 ประเด็น คือสำคัญ 1. งานสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ สสส. เติมเต็มช่องว่างให้กับระบบสุขภาพไทย ขับเคลื่อนรวมพลังสร้างสรรค์สุขภาวะกับทุกภาคส่วนของสังคม มีความยืดหยุ่นคล่องตัว ขับเคลื่อนสุขภาวะได้ทุกวิกฤต จนพิสูจน์ความสำเร็จสู่การเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพที่นานาชาติให้การยอมรับ ล่าสุดได้รับรางวัลเนลสัน แมนเดลา ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 (WHO Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021) จากองค์การอนามัยโลก 2.การเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ การเปลี่ยนค่านิยมสร้างประเพณีวัฒนธรรมไร้แอลกอฮอล์ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ทำให้อุบัติเหตุลดลง พัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน จุดกระแสกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะคนไทย เปิดใจ รับรู้ ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสุขภาวะทางเพศ
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในประเด็นที่ 3.การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง สสส. ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศที่จัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม คนกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาวะคนทำงาน และการลงทุนในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่ถือว่าได้ผลคุ้มค่า ผ่านโครงการต่างๆ และ 4.การเปลี่ยนแปลงต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างสุขภาวะระดับพื้นที่ ด้วยระบบสุขภาพอำเภอ การสร้างสำนึกที่เท่าทันโลกด้วยระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ผลักดันให้ประชาชนไทยก้าวสู่การเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ ที่มีความทันทันสื่อ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเวลาเดียวกัน
“จากการถอดบทเรียน 20 ปี สสส. หัวใจความสำเร็จ คือ การรวมพลังภาคีสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม สสส. ทำหน้าที่สานพลัง ร่วมสร้างนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” ขับเคลื่อนสังคม ต่อยอดแก้โจทย์ใหม่ๆ ยากๆ ในสังคมด้วยเครื่องมือใหม่บวกกับทุนความรู้ที่สั่งสม โดยสสส. เป็นองค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่มีภาคีเครือข่าย ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ เป็นแนวร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ขอขอบคุณภาคีสุขภาพ กว่า 20,000 ภาคี ในการเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ซึ่งในทศวรรษหน้า สสส. มีทิศทางการดำเนินงานใน 7 ประเด็น คือ 1.บุหรี่ 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.อุบัติเหตุ 4.กิจกรรมทางกาย 5.อาหาร ทั้งความปลอดภัยของอาหาร และพฤติกรรมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม 6.สุขภาพจิต และ 7.มลพิษทางอากาศ” ดร.สุปรีดา กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สสส. มีความเชื่อว่า ‘การป้องกัน’ ดีกว่า ‘การรักษา’ และ ‘สร้าง’ นำ ‘ซ่อม’ เราป้องกันด้วยการสร้างสุขภาพดีกว่าการ ไปซ่อมสุขภาพในภายหลัง และที่ผ่านมา สสส. ก็ใช้กลไกในการสนับสนุนภาคีในการทำสิ่งที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และกรอบพฤติกรรมที่ทำให้คนสุขภาพดีขึ้น สิ่งที่สสส. ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อไป คือ หาวิธีทำอย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และคิดถึงเรื่องสุขภาพต่อเมื่อไม่สบายแล้ว อยากทำให้สังคมเข้าใจในการสร้างสุขภาพที่ดีก่อนที่จะป่วย ผ่านทั้งกลไกทางสังคมและนโยบายของภาครัฐด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันทุกหน่วยงาน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส. เท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าที่ให้ความรู้ กระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี กระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้าทำลายสุขภาพทั้งหลาย ก็ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสังคมสุขภาวะ
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรม ที่พยายามตอบโจทย์การสร้างสุขภาพ และมีหลักการทำงาน ที่รวมพลังทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันเชิงระบบ เพื่อให้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสูง และต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญมากๆ คือแรงผลักดันพลังของเครือข่าย จากทุกภาคส่วน ที่หลากหลาย และกระจายไปทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มีคนทำงานในทุกจังหวัด ย่อมมีพลังในการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แม้ในบางประเด็นปัญหาที่ หยั่งรากลึกมานาน ยากต่อการเปลี่ยนแปลง อาจต้องใช้เวลา ซึ่งสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต คืออยากให้คนไทยส่วนใหญ่ตระหนักว่า การสร้างสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน และอยากมีส่วนร่วม ทั้งเปลี่ยนแปลงตนเอง และร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี สสส. จัดกิจกรรม “20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน”ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. นี้ ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยจัดงานแบบไฮบริด (Hybrid) ผสมผสานระหว่างการจัดงานในสถานที่จริง (on ground) และการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ (online) ที่ยึดหลักการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Meeting) เน้นมีกิจกรรมทางกาย อาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนาถอดบทเรียนการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย งานสร้างเสริมสุขภาพยุคใหม่ อนาคตการสร้างเสริมสุขภาพของไทย นอกจากนี้ยังแสดงผลงานนวัตกรรมสุขภาพ 14 ผลงาน อาทิ โต๊ะประชุมยืน ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม Salt Meter เสาหลักนำทางจากยางพารา ฯลฯ และผลงานที่จดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ 25 ชิ้นงาน อาทิ อุปกรณ์รองนั่งสำหรับขับถ่าย ผลิตภัณฑ์ลูกอมสมุนไพรหญ้าหมอน้อยที่มีสรรพคุณช่วยลดการสูบบุหรี่ มีผลงานโชว์เคส 16 บูธ อาทิ ฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กิจกรรมเล่นตามวัย โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก Condom4Teen โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) และนิทรรศการ 20 ปี ภาคีสร้างสุข ในรูปแบบ แบบ INTERACTIVE ผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีด้วยกัน และติดตามรับชมผ่านทางเว็บไซต์ https://20th.thaihealth.or.th และ Facebook LIVE : ThaiHealth