ซีพีเอฟ สนับสนุนนักเรียนเดินหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่ แหล่งโปรตีนคุณภาพของเด็กๆ ในช่วงวิกฤตโควิด19
..........................
การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการได้บริโภคโปรตีนที่ดีอย่าง "ไข่ไก่" ช่วยหนุนการเติบโตอย่างสมวัยทั้งทางร่างกายและสมอง ซึ่งที่ผ่านมา "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน" เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 แห่ง ครอบคลุมจำนวนนักเรียนประมาณ 160,000คน มีผลผลิตไข่ไก่บริโภคอย่างสม่ำเสมอ
ที่โรงเรียน ตชด.การบินไทย ต.ไทรเดี่ยว อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ซึ่งปีนี้ร่วมโครงกาฯมาเป็นปีที่ 18 แล้ว ด.ต.หญิงรุ่งอรุน ค่ำชู ครูผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เล่าว่า โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีเด็กนักเรียน 140 คน ในพื้นที่บริการ 3 หมู่บ้าน เด็กๆส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ที่ทำอาชีพทำนา ทำไร่ และรับจ้าง เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่ 150 ตัว จากการสนับสนุนของซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้พันธุ์ไก่ อาหารสัตว์ พร้อมโรงเรือนแบบให้เปล่าในรุ่นแรก เมื่อปี 2546 ทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 12 ตอนนี้ไก่เป็นช่วงท้ายของการให้ผลผลิต และทยอยปลดระวางแม่พันธุ์ไก่ไข่ ทำให้มีไข่ประมาณ 100 ฟองต่อวัน โดยในช่วงโควิด 19 ที่เด็กๆต้องเรียนที่บ้าน โรงเรียนจัดสอนออนไลน์ และครูประจำชั้นไปส่งเอกสารใบงานต่างๆให้ที่บ้าน ทุกๆวันอังคารครูจะจัดพืชผักสวนครัวและไข่ไก่ไปให้นักเรียน คนละ 10 ฟอง ส่วนวันศุกร์จะทำข้าวกล่องไปแจก เพราะโรงเรียนเล็งเห็นปัญหาที่นักเรียนต้องอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในวัยชราและรายได้ไม่เพียงพอ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนและลดค่าครองชีพให้กับผู้ปกครอง นอกเหนือจากการจำหน่ายไข่ไก่ในราคาย่อมเยาผ่านสหกรณ์ และการสนับสนุนให้ซื้อแม่พันธุ์ไก่ปลดระวางที่ยังให้ผลผลิตไปเลี้ยงต่อที่บ้าน ช่วยลดรายจ่ายและเป็นคลังอาหารของครอบครัว
ด.ญ.อภิญญา กองนอก หรือน้องชมพู่ นักเรียนชั้น ป.6 บอกว่า ทุกวันอังคารและวันศุกร์ คุณครูจะนำไข่ไก่กับอาหารกลางวันมาให้ถึงที่บ้าน บางครั้งก็มีผักมาด้วย เพราะครูอยากให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมือนกับตอนที่ไปโรงเรียน หนูนำไข่ไก่มาทำไข่เจียวหรือไข่ต้ม เพื่อเป็นอาหาร พ่อกับแม่ก็ได้กินไข่ไก่ ซึ่งเป็นผลผลิตที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของบ้านเราได้
ด้าน พ.ต.ต.สถาพร ไชยวรรณ ครูใหญ่ โรงเรียน ตชด. บ้านทุ่งกบินทร์ ต.วังใหม่กิ่ง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เล่าว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ทำให้นักเรียนทุกๆรุ่นมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ตามมาตรฐาน มีห้องเรียนอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง เกิดเป็นทักษะที่ติดตัวของพวกเขาไปโดยอัตโนมัติ นักเรียนสามารถนำพื้นฐานความรู้ที่ได้ไปต่อยอดได้ในอนาคต หลายคนนำความรู้ที่ได้ไปเลี้ยงแม่ไก่ปลดฯที่บ้าน ทำให้มีไข่บริโภคได้อย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน เป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่เขาสามารถต่อยอดได้จริงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ผ่านมาโรงเรียนสามารถบริหารจัดการผลผลิต จากแม่ไก่ 100 ตัว เพื่อให้นักเรียนทั้ง 104 คนมีไข่ไก่บริโภคเป็นมื้อกลางวันอย่างสม่ำเสมอ แม้ช่วงโควิดที่โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนการสอนในรูปแบบ Onhand ครูต้องส่งใบงานติดตามการบ้านนักเรียนที่บ้าน ก็ยังจัดปรุงอาหารทั้งข้าวกะเพราไข่เจียว ไข่ต้อม รวมถึงไข่สดที่จะนำไปมอบให้กับเด็กๆ คนละ 6-10 ฟอง แล้วแต่รอบวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี ขณะเดียวกันก็ยังจำหน่ายผลผลิตผ่านสหกรณ์ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ในราคาเพียงแผงละ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาดมาก เพื่อให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองมีโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ไก่ได้บริโภค
ดช.กิตติพงษ์ แซ่คู หรือน้องโตโน่ นักเรียนชั้น ป.6 บอกว่า ตนเองรับผิดชอบเลี้ยงไก่ไข่ในโครงการฯด้วย ซึ่งทุกวันนี้ยังเข้ามาช่วยดูแลไก่ เก็บไข่ ให้อาหาร ทำความสะอาดเหมือนเดิม แม้ว่าโรงเรียนจะไม่ได้เปิดสอนก็ตาม แต่ก็อยากมาช่วยแบ่งเบาภาระของคุณครู เพราะคุณครูช่วยดูแลนักเรียนทุกคนอย่างดีทั้งเรื่องการเรียน และนำอาหารไปให้ถึงที่บ้าน เช่นเดียวกับ ดญ.จันดี รักไทย ที่กล่าวขอบคุณครูที่มีความห่วงใย โดยเฉพาะการนำอาหารและไข่ไก่มาให้ เพราะช่วยลดรายจ่ายให้กับครอบครัวได้มาก พ่อแม่ก็ดีใจที่โรงเรียนสนใจความเป็นอยู่และสุขภาพของนักเรียน และมาเยี่ยมอยู่ตลอด
เช่นเดียวกับที่ โรงเรียน ตชด.บ้านเทพภูเงิน ต.น้ำโสม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร บนยอดเขาภูซางน้อยที่การเดินทางเข้าขั้นลำบาก ด้วยเส้นทางดินแดงสลับลูกรัง โดยเฉพาะฤดูฝนเช่นนี้ ที่นี่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถปิดเรียนได้เช่นกัน แต่โรงเรียนยังคงเดินหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลผลิตไข่ไก่สำหรับนักเรียนทั้ง 45 คน ได้บริโภค แม้ว่าเด็กๆจะไม่ได้มาเรียนตามปกติ
นางสาวดวงมณี สระทองเฟือง ครูผู้ดูแลโครงการฯ เล่าว่า แม้โรงเรียนจะห่างไกลตัวเมืองมาก ไม่มีไฟฟ้าต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน แต่โรงเรียนก็อยากให้นักเรียนได้มีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต และเป็นพื้นฐานอาชีพให้กับพวกเขา จึงประสานกับซีพีเอฟและมูลนิธิฯ เพื่อขอเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เมื่อปี 2562 ปัจจุบันเลี้ยงไก่เป็นรุ่นที่ 2 มีนักเรียนที่ช่วยรับผิดชอบโครงการ 5 คน ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2-3 เริ่มจากไม่รู้วิธีการเลี้ยงเลย จนได้สัตวแพทย์และสัตวบาลของซีพีเอฟมาถ่ายทอดความรู้ เด็กๆสามารถช่วยกันทำเอง ทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะดูแลไก่ไข่ทั้ง 100 ตัว ทั้งดูแลเก็บไข่ ให้อาหารไก่ ทำความสะอาดโรงเรือน เก็บมูลไก่ รวมถึงทำบัญชีและส่งไข่ให้สหกรณ์ทุกวัน นอกจากนี้ ยังนำมูลไก่มาผสมจุลินทรีย์กากน้ำตาล เป็นปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายให้กับชาวสวนยาง เป็นรายได้สำหรับต่อยอดโครงการฯ
“โควิดทำให้นักเรียน ต้องเรียนที่บ้าน แต่เด็กๆทุกคนยังได้บริโภคไข่ไก่ โดยครูจะใช้โอกาสที่นำใบงานไปส่งที่บ้าน เพื่อไปตรวจเยี่ยม ติดตามการเรียน และดูแลความเป็นอยู่ของเด็กๆ พร้อมกับนำอาหารที่ช่วยกันปรุง เช่น ข้าวผัดไข่ ข้าวไข่เจียว พร้อมทั้งนมผง ปลาแห้ง ปลากระป๋อง ไปแบ่งปันให้เด็กๆ ภายใต้โครงการครูอนามัย เพื่อให้มีโภชนาการที่ดี กินอาหารครบหมู่ และช่วยลดภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างกรีดยาง ทำนา ทำไร่ ซึ่งค่อนข้างลำบาก โครงการเลี้ยงไก่ไข่จึงมีส่วนช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” ครูดวงมณี กล่าว