ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม กฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาฯ ห้ามขาย ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี กำหนดห้าม อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป เสพ ในลักษณะ 4x100 ขายผ่านอินเทอร์เน็ต โฆษณาไม่ได้
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ต.ค.2563 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยาม “พืชกระท่อม” “ผลิต” “นำเข้า” และ “ส่งออก”
2. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเร่ขาย ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม
3. กำหนดห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป เสพพืชกระท่อมในลักษณะ 4x100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม ห้ามมิให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม
4. กำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับ (1) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร (2) ยาที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยยา (3) อาหารที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และ (4) เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
5. กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียว และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
6. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้อนุญาตผลิต นำเข้า และส่งออก พืชกระท่อม รวมถึงมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ แทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า
1. ปัจจุบัน “พืชกระท่อม” ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งกฎหมายกำหนดกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ไว้เฉพาะเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น ซึ่งการควบคุมพืชกระท่อมในลักษณะของยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ซึ่งพบว่ามีการใช้พืชกระท่อมในรูปแบบวิถีชาวบ้าน เช่น การเคี้ยวใบกระท่อมสด หรือการนำมาชงชาหรือต้มน้ำดื่มสำหรับตนเองในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับในต่างประเทศพบว่า พืชกระท่อมไม่ได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องควบคุมตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านยาเสพติดตาม (1) อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) (2) อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 (Convention on Psychotropic Substances, 1971) และ (3) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 (United Nations Convention against Illicit Trafficking in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) ดังนั้น การที่ประเทศไทยถือว่าพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษจึงถือว่าเป็นการควบคุมในระดับเข้มงวด
2. ผลการศึกษาการควบคุมพืชกระท่อมในต่างประเทศ จำนวน 90 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2563) สามารถจัดกลุ่มการควบคุมพืชกระท่อมออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
2.1 ควบคุมแบบยาเสพติด คือ มีการควบคุมด้วยกฎหมายยาเสพติดจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไทย เมียนมา อิตาลี และอินเดีย
2.2 ควบคุมแต่ไม่ใช่กฎหมายยาเสพติด คือ มีการควบคุมโดยกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับยา กฎหมายเกี่ยวกับสารพิษ หรือกฎหมายเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฯลฯ จำนวน 37 ประเทศ ได้แก่ คอซอวอ โครเอเชีย ซีเรีย เซอร์เบีย ญี่ปุ่น ฯลฯ
2.3 ไม่ควบคุม คือ ไม่มีการควบคุม จำนวน 48 ประเทศ ได้แก่ กรีซ กัมพูชา กัวเตมาลา กายอานา คอสตาริกา คิวบา แคนาดา ฯลฯ
3. โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิกถอนพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ ยธ. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาฯ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ควรให้มีกฎหมายควบคุมพืชดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย
4. ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ยธ. จึงเห็นควรให้มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมตามข้อสังเกตดังกล่าว ประกอบกับในปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม เช่น พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หรือพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 แต่พระราชบัญญัติทั้งสามฉบับดังกล่าวก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำพืชกระท่อมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่สามารถนำมาใช้ใน การควบคุมการปลูกและการเสพพืชกระท่อมที่ไม่ได้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ได้
5. ยธ. โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ร่วมกับสำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จัดทำร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... ขึ้น โดยจะเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม การป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และการป้องกันมิให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด ตลอดจนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
6. ยธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส. (www.oncb.go.th) ทางโทรสารหมายเลข 0 2245 9413 และนำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 3 กันยายน 2563 และจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว พร้อมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.oncb.go.th และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage