กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ประเดิมถกม.256 นำร่อง จ่อปิดทางตั้ง “ส.ส.ร.”เหตุใช้เวลานานไป ด้าน “ไพบูลย์”เผยอนุฯเคาะแก้ 32 ประเด็น-11 มาตรา
เว็บไซต์ www.dailynews.co.th รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ม.ค. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณากรอบการทำงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และรายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุกมธ.
โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.วิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)และกฎหมายอื่น ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุม ว่า อนุกมธ.มีความคิดเห็นว่าจะนำประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก และจะเร่งส่งผลการศึกษาให้กับกมธ.ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งเบื้องต้นสำหรับภาพรวมของข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคณะอนุกมธ.ฯได้รวบรวมจากการแสดงความคิดเห็นของส.ส.ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและ กมธ.สรุปได้ว่ามีทั้งสิ้น 32 ประเด็น และ 11 มาตรา
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมาธิการฯพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขควรตั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึงโอกาสจะได้รับความร่วมมือและการต่อต้าน 2.ระยะเวลา ถ้าแก้ไขได้เร็วมากที่สุดเท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะหลายเรื่องคงรอสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้
ส่วนแนวทางการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรตั้งเป็นประเด็น 2 เรื่อง คือ 1.สิทธิประโยชน์ในรัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเมื่อนำรัฐธรรมนูญปี 60 เทียบกับปี 40 หรือปี 50 เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้อยกว่ามาก ดังนั้นควรมาดูในประเด็นไหนที่ปัจจุบันด้อยกว่าก็ให้กลับไปใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในอดีตแทน 2.การเมืองการปกครอง อย่างระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งหลายคนอึดอัดเป็นอย่างมากและปัญหาที่เกิดมาจากการบังคับใช้มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การคำนวนจำนวนส.ส.พึงมี เป็นต้น และ 3.มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมานั้นครั้งนี้แก้ยากที่สุดเหมือนไม่อยากให้มีการแก้ไข
"ถ้าเรามองลงลึกไปใน มาตรา 256 แทนที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายกำหนดตามแนวทางประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าฝ่ายข้างน้อยเป็นฝ่ายกำหนด อย่างนี้เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องมาตรา 256 เพียงแต่นำเอารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาแล้วกลับมาใช้หลักการเดิม คือ เสียงข้างมาก สองในสาม หรือ สามในห้าของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน และถ้าเราเอากรอบทั้งสามนี้เป็นตัวตั้ง ผมมั่นใจว่ากมธ.จะใช้เวลาการทำงานไม่ถึง 120 วัน ถ้าสังคมคิดว่าเราทำงานซื้อเวลากันไปวันๆ ความขัดแย้งน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรเร่งดำเนินการและไม่ควรละเลย" นายบัญญัติ กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังนายบัญญัติได้แสดงความคิดเห็นได้มีกรรมาธิการในซีกฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ กรรมาธิการฯพรรคเพื่อไทย ระบุว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 เพราะถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่สำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระยะยาว
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมาธิการฯพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี60 บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว คนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ยอมให้แก้หรือถ้าให้แก้ไขก็จะได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย การแก้ มาตรา 256 เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเสียงข้างมากปกติ หรือตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ทั้ง2 วิธีการนี้ส่วนเชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่มีทางยอม ซึ่งเจตจำนงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะตัดสินใจอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีตัดสินใจเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พร้อมหมด ทั้งนี้กมธ.มีเวลา 120 วัน หากจบแล้วไม่ได้อะไรเลยย่อมถูกสังคมตำหนิแน่นอน อย่างน้อยที่สุด กมธ.ต้องมีความเห็นกระบวนการแก้ไขควรมีวิธีอย่างไร
ด้านนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กมธ.ไม่ได้มีหน้าที่ไปศึกษารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม และเสนอเป็นกรอบความคิดเห็นต่อที่ประชุมสภาฯต่อไป แต่มั่นใจว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จทันกรอบ 120 วันแน่นอน
จากนั้นนายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญฯสัดส่วนครม.และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงเจตนารมณ์ของ มาตรา 256 ว่า ที่ประชุมกมธ.อาจจะยังไม่เข้าใจตรงกันเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งรัฐธรรมนูญ โดยเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี60ได้มีความขัดแย้งแล้ว และคนที่นั่งมาทำงานตรงนี้ก็ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี60
นายอุดม กล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติ มาตรา 256 ที่มีความซับซ้อนในเรื่องการกำหนดให้มีจำนวนเสียงส.ว.ในการให้ความเห็นชอบด้วยนั้นคิดว่าถ้าตัดเรื่องที่มาของส.ว. 250 คน ความซับซ้อนที่ว่านั้นจะลดน้อยลงไป สำหรับเจตนารมณ์ของมาตรา 256 มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญถ้าจะถูกแก้ไขก็ต้องมาจากการที่เห็นว่าสมควรต้องแก้ไขจริงๆ โดยให้เสียงของทั้งสองสภาเห็นพ้องกัน ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรควรต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และให้ทุกฝ่ายรับยอมรับได้