"วิษณุ" งัด ม.143 ช่วย พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้ถ้าโมฆะ จะกลับไปร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอ พร้อมย้ำไม่มีวิบัติแน่ มีสำรองอีกหลายทาง
เว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ว่า ต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาฯ และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลฯ ก็ต้องรอผลตรวจสอบของสภาฯ เช่นกัน สำหรับบัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณีคือ แสดงตนและลงมติ แต่ปัญหาคือ มีการแสดงตนแล้วกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไป ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน แล้วเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ และหากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ก็ต้องตรวจสอบ
เมื่อถามว่า บางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่า เจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่มีการฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอ นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้
ส่วนข้อเสนอให้มีการใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันนั้น ตนก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ซึ่งไม่ว่าผลสอบของสภาฯ เป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จ คงมีการลงมติอีกหลายครั้ง ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดกระทำโดยมิชอบ จนเกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ต้องป้องกัน
เมื่อถามว่า มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทางออกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วหรือไม่ / นายวิษณุ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไข ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลกันตอนนี้ ก็บอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร วันนี้ความกังวลคือ การล่าช้า แต่ความเสียหายร้ายแรงมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ ตนจึงย้ำว่าไม่วิบัติ ยังไงก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณเตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยโครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก แต่ขอให้รู้ก่อนว่าความผิดเกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ขณะที่การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่เป็นทางสุดท้าย
เมื่อถามว่า กรณีนี้สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร่งด่วนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรู้อยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 56 และ 57 แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่า หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะกลัวสภาฯ แช่ไว้ แปรญัตติกันไปมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้นจึงเป็นความต่าง แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เสนอในวาระที่ 1 ดังนั้นทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตัดออกไป จะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะกรรมาธิการทำล่าช้า โดยมาตรา 143 ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก และถึงอย่างไรงบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือนร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ