"ธรรมนัส” คืนชีพ “วันแม็พ” อ้างแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนวังน้ำเขียว ส่อปล่อยผีรีสอร์ท ยันไม่มีนโยบายทุบทิ้ง แต่หากอยู่ในเขตส.ป.ก. จะให้เช่า หาเงินเข้ากองทุนส.ป.ก.
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ที่รัฐสภา นายชุณห์ ศิริชัยคีรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นำผู้นำท้องถิ่นและท้องที่ จาก อ.ครบุรี เสิงสาง ปักธงชัย วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 50 คน สวมเครื่องแบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นหนังสือต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยนายชุณห์ กล่าวว่า จากการประกาศแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน เมื่อปี 2524 ของกรมอุทยานฯ ที่ยังไม่มีแนวเขตชัดเจนทับซ้อนที่อยู่อาศัยทำมาหากินของราษฎรโดยมีราษฎรใน 4 อำเภอของ จ.นครราชสีมา และ 1 อำเภอในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวม 15 ต. 72 หมู่บ้าน ประชากร 2.5 หมื่นคน ซึ่งราษฎรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ถูกจับกุมดำเนินคดี 351 คดี ยังไม่รวมการจับกุมเพิ่มเติมใหม่ เพื่อเป็นการให้ความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่และราษฎรที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และส่วนราชการที่ทำให้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอให้แก้ไขแนวเขตเส้นปี 2524 ที่ทำการสำรวจโดยมิชอบ ขอให้เอาแนวเขตเส้นปี 2543 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2540 โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นชอบและหลายหน่วยงานเห็นชอบ มาประกาศใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและหน่วยงานราชการทุกฝ่ายในพื้นที่
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน โดยร่วมมือกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเรื้อรังมานาน แต่จะได้รับการแก้ไขในยุคนีี้
ทั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ประสานงานกับรมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตัวแทนจากกรมป่าไม้ ตัวแทนจากส.ป.ก. และตัวแทนจาก กอ.รมน. เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยจะนำโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตรา 1:4000 (One map: วันแม็พ) ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการไว้แล้ว มาพิจารณาใช้ ปัญหาต่างๆ จะถูกคลี่คลายไป จะได้รู้ชัดเจนว่าป่ารุกชาวบ้าน หรือชาวบ้านรุกป่า เป็นที่ของส.ป.ก. ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมป่าไม้ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะทุกวันนี้ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นที่ของตนเอง อยู่ในสังกัดของตัวเอง ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ ปัญหาก็ตกอยู่กับชาวบ้าน ไม่ได้รับการแก้ปัญหา
ส่วนรายละเอียดของโครงการวันแม็พนั้นเป็นของเดิมที่ทำไว้แล้ว มีแนวเขตใหม่ และแนวเขตเก่า ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มประชุมกันในสัปดาห์นี้แล้ว เนื่องจากเรามีข้อมูลเก่าอยู่แล้ว เหลือเพียงตัดสินใจว่าจะใช้แนวเขตไหนที่ถูกต้อง เมื่อได้แนวเขตแล้ว ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อนุมัติอีกครั้ง เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน
เมื่อถามว่า จะมีมาตรการจัดการกับนายทุนอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องนายทุน ถ้าเป็นที่ของกรมอุทยานฯ หรือหรือกรมป่าไม้ เขาคงแก้ปัญหาเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของส.ป.ก. ตนมีนโยบายชัดเจนว่า จะเอาที่ดินที่สังกัดของส.ป.กเพื่อจัดสรรให้ชาวบ้าน และเกษตรกรได้ทำกิน
เมื่อถามย้ำว่า ปัจจุบันที่ดินเหล่านี้ตกอยู่ในมือนายทุน ก่อนถึงประชาชน และให้ประชาชนเช่าทำกิน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของส.ป.ก. เนื่องจากส.ป.ก.ต้องการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน เราเคยมอบที่ดินให้เกษตรกร แล้วเขานำไปขายให้กลุ่มนายทุน เราจะจัดสรรให้คนกลุ่มใหม่ที่เขาขึ้นทะเบียนไว้แทน อย่างไรก็ตาม ไม่มีนโยบายในการทุบทำลายรีสอร์ท โดยจะให้มีการใช้กฎหมายยึดมาเป็นของรัฐ และให้เจ้าของรีสอร์ทเช่าดำเนินการต่อ และนำเงินมาเข้ากองทุนส.ป.ก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป
เมื่อถามว่า รีสอร์ทที่จะให้เช่านั้น รวมในส่วนที่เป็นของนายทุนที่ไม่ใช่เกษตรกรรายเดิม และรวมถึง 88 การ์มองเต้ หากอยู่ในเขตส.ป.ก. ด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นการดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นของส.ป.ก. ซึ่งไม่ว่าจะเป็นของนายทุนหรือชาวบ้านที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากการเกษตรไปทำรีสอร์ทหรือโฮมสเตย์ หากอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก. ก็มีแนวทางว่าให้ยึดมาก่อน โดยใช้กฎหมาย ไม่ใช่ยึดแบบป่าเถื่อน แล้วมาเจรจากันว่าจะให้เชพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อได้หรือไม่ และนำเงินรายได้มาเข้ากองทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ใช่ไปไล่ทุบ ไม่เกิดประโยชน์อะไร และเมื่อทุบแล้วก็ต้องเป็นคดีฟ้องร้องในศาลกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการวันแม็พ คือการทำแผนที่ระวางเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ทุกส่วนราชการใช้ร่วมกัน หรือชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ได้ถูกระงับไปในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา และมีการหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในเวลานี้ ซึ่งอุทยานทับลานมีพื้นที่ทับซ้อน กับส.ป.ก.อยู่ประมาณ 8,000 ไร่ และมีรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศจำนวน 80 กว่าแห่ง ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จับกุมดำนินคดีอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจากนายทุน และนักการเมืองในพื้นที่ที่จะให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตส.ป.ก. โดยมีการออกเอกสารส.ป.ก.มารับรองเพื่อให้รอดจากการถูกรื้อถอนดำเนินคดี