สธ.จัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ครบวงจรเผยน้ำมันกัญชาล็อตแรกจาก อภ.-รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมให้ผู้ป่วยเดือนส.ค.นี้ ด้าน อภ.ลั่น 5 ก.ค.เก็บเกี่ยวดอกกัญชารอบ 3 ผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลครบวงจร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงาน ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อให้การนำกัญชาไปใช้มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ในด้านการปลูก การผลิต การกระจาย โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะผลิตน้ำมันกัญชาล็อตแรกในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้ ประมาณ 10,000 ขวดและรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จำนวน 5,000 ขวดเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนรพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จะผลิตตำรับยาแผนไทย 5 ตำรับจากกัญชาของกลาง
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ด้านผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ ปัจจุบันมีแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ ผ่านการอบรม 400 คน แพทย์แผนไทยผ่านการอบรม 2,900 คน โดยจะปรับการอบรมแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สั่งใช้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำแนวทางการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ แนวทางการรักษาเมื่อผู้ป่วยเกิดปัญหาจากการใช้ยากัญชา รวมทั้งกำหนดวิธีการขอรับอนุญาตจำหน่ายในสถานพยาบาล โดยระยะแรกเดือนก.ค. – ก.ย. 2562 สามารถจัดบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ใน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และขยายระยะที่ 2ให้ครอบคลุมรพ.ชุมชน และรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายในเดือนเม.ย.2563 อย่างไรก็ตามการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นระยะเริ่มต้นปริมาณการผลิตยังอยู่ในวงจำกัดสำหรับผู้ป่วยในโครงการ ระยะต่อไปจะมีการขยายให้เพียงพอต่อการนำไปใช้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ภายใต้การดูแลของแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ และแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมเพื่อให้เกิดผลในการรักษาและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีทั้งคุณและโทษ โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรค (SAS : Special Access Scheme) ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันประสิทธิผลชัดเจนได้ประโยชน์ในการรักษา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษา 2.มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติม น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง และ3.สารสกัดกัญชาอาจได้ประโยชน์ในการรักษาแต่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ ให้พิจารณาสั่งจ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้การรักษาตามวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ส่วนด้านการแพทย์แผนไทย มีตำราทางการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทยที่อนุญาตให้ใช้เพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ จำนวน 16 ตำรับ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารปละยา (อย.) กล่าวว่า เดิมที่อภ.แจ้งว่าล็อตแรกจะผลิตได้ 2,500 ขวดนั้น แต่จากการหารือร่วมกัน พบว่าเป็นสูตรน้ำมันเข้มข้น แต่เมื่อเอามาปรับความเข้มข้นตามมาตรฐานทางยาแล้ว ทำให้ล็อตจะอภ.จะมีน้ำมันกัญชาแบ่งเป็นสูตรทีเอชซีสูง 10,000 ขวด สูตรซีบีดีสูง 500 ขวด และสูตรทีเอชซีกับซีบีดีอัตราส่วน 1 ต่อ 1 จำนวน 3,500 ขวด
ด้าน ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ อภ.ได้มีการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาที่มีเติบโตและมีสารสำคัญสมบูรณ์เต็มที่แล้ว 2 รอบ และ มีแผนจะเก็บเกี่ยวอีกในวันที่ 5 ก.ค.นี้ และจากนี้ก็จะดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ทั้งแบบ Indoor และ Greenhouse พร้อมดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสม และสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด คาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2563.
ที่มาข่าว: https://dailynews.co.th/politics/718523