18 พ.ย. 2567 วันสถาปนา ป.ป.ช. จัดกิจกรรมตักบาตร-มอบรางวัลเพชรน้ำเอก 4 รางวัล ‘เอนก สอนสี-ปิยะวรรณ สุขขา-อมลมณี ลีนิว-อัมรินทร์ อ่วมนุช’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2567 เป็นวันสถาปนาของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิเจ้าที่ และต้อนรับผู้ร่วมแสดงความยินดี และรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการสงเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้พิการ ให้แก่วัดพระบาทน้ำพุ การแสดงสัมโมทนียกถา โดย พระราชวิสุทธิประชานาถ วัดพระบาทน้ำพุและพิธีมอบรางวัลเพชรน้ำเอก ประจำปี 2567 เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตำแหน่งสาขากระบวนการยุติธรรม ตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นายเอนก สอนสี ผู้อำนวยการกลุ่มไต่สวน 4 สำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ
กลุ่มที่ 2 ตำแหน่งทั่วไป ตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ -
กลุ่มที่ 3 ตำแหน่งสาขากระบวนการยุติธรรม ระดับต้น – ระดับสูง ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางสาวปิยะวรรณ สุขขา พนักงานไต่สวน ระดับสูง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารคดีภาค 4 กลุ่มที่ 2) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4
กลุ่มที่ 4 ตำแหน่งทั่วไป ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ – ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน – ระดับอาวุโส ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางสาวอมลมณี ลีนิวา เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินชำนาญการพิเศษ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบและกลั่นกรองเรื่องตรวจสอบทรัพย์สิน) สำนักกิจการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กลุ่มลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นายอัมรินทร์ อ่วมนุช พนักงานโสตทัศนศึกษา (ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง) สถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์
ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ทั้งนี้ จึงได้ถือเอาวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนาของสำนักงาน ป.ป.ช.
ตลอดระยะเวลา 25 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งมั่นในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างสังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต ด้วยนโยบายเชิงรุกทั้งการปราบปรามการทุจริต การป้องกันการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นหลายประการ อาทิ
(1) การเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) คือการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการ เฝ้าระวังและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ เช่น กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น
(2) การให้ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหรือท้องถิ่นของตน ด้วยการร่วมแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ยกตัวอย่างกรณีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โครงการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง โครงการขุดลอกลำคลองหรือก่อสร้างถนน ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เช่น ป่าสงวน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งชายหาด เป็นต้น
(3) การมีคำพิพากษาของศาล เกี่ยวกับกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ การนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน หรือการนำรถยนต์ EV ส่วนบุคคลมาชาร์จไฟในพื้นที่ราชการ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งในการปรับฐานความคิดด้านการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ให้ประสบผลสำเร็จ โดยนำกรณีตัวอย่างที่ศาลได้มีคำพิพากษาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
(4) การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่าง ๆ อาทิ การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนเพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าศึกษา การทุจริตนมโรงเรียน การฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ หรือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้านวัตกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกิดกลไกในการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่เข้ามาชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล หรือให้ข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่การพิพากษาดำเนินคดี และมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดนั้น ๆ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยผลักดันการดำเนินงานดังนี้
ภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ยังคงขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินการประเมิน ITA ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังคงขับเคลื่อน ในเรื่องหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ในประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขับเคลื่อนศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) เพื่อเฝ้าระวัง ระงับยับยั้ง ป้องกันและป้องปราม เพื่อลดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านปราบปรามการทุจริต มุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวน ให้มีความเป็นระบบและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นการสะสางเรื่องกล่าวหาคงค้าง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรับเรื่องกล่าวหาร้ายแรงไว้ดำเนินการ การบูรณาการความร่วมมือในการส่ง/มอบหมายเรื่องกล่าวหาที่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ควบคู่กับการเตรียมการนำระบบเทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของการส่งเรื่องกล่าวหา และการกำกับติดตาม การดำเนินงาน
ทั้งนี้ การดำเนินงานของภารกิจไต่สวนการทุจริต มุ่งเน้นการทำงานที่รวดเร็ว ควบคู่กับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการจัดทำสำนวนไต่สวน และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งการดำเนินการคดีร่ำรวยผิดปกติ อีกหนึ่งภารกิจหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความเกรงกลัวและลดการกระทำความผิดทางทุจริตให้ลดลง นโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงคุณภาพ การจัดลำดับความสำคัญของภาระงาน การเคร่งครัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด การเตรียมความพร้อม ในทุกมิติสำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับด้านการพัฒนาองค์กร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดำเนินงานในทุกภารกิจเพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยการรวบรวมองค์ความรู้และจัดทำคู่มือการดำเนินงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้และระบบพี่สอนน้อง (Coaching) รวมทั้งการขับเคลื่อนค่านิยมหลักขององค์กร “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุน การดำเนินงานทุกภารกิจเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานในโอกาสครบรอบ 25 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งมั่น เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อขจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย และ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อสู้กับการทุจริตในทุกรูปแบบ ภายใต้แคมเปญ “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง”
ทั้งนี้ หากพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. โทร. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ