สภาผู้บริโภค จี้รัฐ-ผู้ประกอบการ ล้อมคอกหลังพบสารเคมีตกค้างในองุ่นไซมัสแคทเกินมาตรฐานถึง 95.8% โดยผู้ประกอบการต้องเก็บองุ่นออกให้หมด ส่วนรัฐต้องแก้ไขระเบียบ-ข้อกำหนดให้ครอบคลุมสารเคมีใหม่ๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2567 กรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรมากกว่า 400 ชนิด พบสารเคมีเกษตรตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ และพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 95.8 นั้น
ล่าสุด ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการสภาผู้บริโภค ในฐานะประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า การตรวจพบองุ่นไชน์มัสแคทมีสารเคมีตกค้าง ไม่ได้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาหาร อย่างเดียว แต่เกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งกำหนดให้อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
@กฎหมายที่มีไม่ครอบคลุม
มองในมุมผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยาฯ กล่าวว่า กฎหมายเมืองไทยการกำหนดสารเคมีที่ไม่ให้นำมาใช้ในอาหาร ยังไม่ครอบคลุม ขณะที่โลกเปลี่ยนไปมีสารเคมีเกิดขึ้นใหม่ๆ แต่กฎหมายบ้านเราไม่ได้ถูกปรับปรุง ทำให้การเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้งหมด 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่า เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกการใช้ในประเทศไทย จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆภายใต้กฎหมายไทย
“การเฝ้าระวังความปลอดภัยผักผลไม้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารนำเข้า หน้าที่การแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน ประเด็นอาหารไม่ปลอดภัย ที่ผ่านมาจะพบว่า ในพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ไม่ได้เขียนให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่โดยตรง และ ไม่ได้บังคับว่า ต้องทำเร่งด่วน” ภก.ภาณุโชติกล่าว
@พ.ร.บ.อาหารปี 22 เริ่มล้าสมัย
ภก.ภาณุโชติ กล่าวต่อว่า ความไม่ปลอดภัยอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทำให้เราเห็นช่องโหว่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งบังคับใช้มากว่า 40 ปี มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการควบคุมความปลอดภัยอาหารและการโฆษณาอาหาร เราจะพบว่า ความรวดเร็วของภาครัฐที่จะต้องทำงานรวดเร็ว ทั้งการไประงับ หรือไปเตือนภัยผู้บริโภคช้า ไม่ทันยุคเทคโนโลยีสื่อสาร
ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.อาหารฉบับสภาผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้ อย. จัดทำแผนพัฒนาความปลอดภัยการบริโภคอาหาร เช่น แผนการรับมือการนำอาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดอย่างเป็นระบบ รวมถึงระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัย
ภก.ภาณุโชติ ระบุว่า ส่วนผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และรับผิดชอบอาหารที่มีเครื่องหมายการค้าของตนไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นของปลอม หรือเลียนแบบ กรณีที่พบว่า อาหารไม่ปลอดภัยต้องเรียกเก็บออกจากตลาดได้ทันที และแจ้งให้สาธารณะทราบ นอกจากนี้หากผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้า จะต้องได้รับชดใช้ค่าอาหารที่เรียกคืน และค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืน
“ผลของการสุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท จนพบสารเคมีตกค้าง เป็นข้อมูลมาจากผู้บริโภคไม่ได้มาจากสายวิชาการ หน่วยงานราชการ นี่เป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกระบวนการเฝ้าระวัง และเตือนภัยเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ขณะเดียวกันเราได้เห็นระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ผักผลไม้นำเข้า ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้พยายามตรวจสอบเชิงรุกทั่วประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังหลุดรอดออกมาได้” ภก.ภาณุโชติกล่าวอีกตอน
ภก.ภาณุโชติ กล่าวถึงการแก้ไขพ.ร.บ.อาหารฉบับสภาผู้บริโภค เน้นให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบด้วย กรณีเจอองุ่นมีสารเคมีตกค้าง คณะกรรมการอาหาร ต้องหยิบแผนการรับมือการนำอาหารที่ไม่ปลอดภัย ออกมาใช้ ไม่ว่าจะเฝ้าระวังอย่างไร จะเตือนภัยอย่างไร เก็บตัวอย่าง คนรับผิดชอบในกฎหมายอาหาร 2522 เดิมให้เจ้าหน้าที่รัฐรับภาระลงไปจัดการ เก็บออกจากท้องตลาด แต่กฎหมายอาหารฉบับผู้บริโภค มอบภาระให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารต้องทำตรงนี้ ไม่ปฏิบัติ หน่วยงานรัฐสามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งในพ.ร.บ.อาหารฉบับสภาผู้บริโภค การนำอาหารไม่ปลอดภัยออกจากตลาด จะมีความรวดเร็วกว่า
@ผู้ประกอบการเก็บองุ่นออก / รัฐปรับปรุงระเบียบข้อกำหนดให้ครอบคลุม
ประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยาฯ กล่าว และว่า สภาผู้บริโภคเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รับผิดชอบต่อสังคม เก็บองุ่นไชน์มัสแคท ออกจากท้องตลาด หรือสำแดงหลักฐานไม่มีสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ขณะที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงข้อกำหนดสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร ให้ครอบคลุมถึงสารใหม่ๆ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ภก.ภาณุโชติ กล่าวแนะนำผู้บริโภคทิ้งท้ายด้วยว่า หากผักและผลไม้ยังมีความคลุมเครือด้านคุณภาพสินค้า และมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้าง ยังไม่มีการรับประกัน การจะซื้อผลไม้ไปฝากใคร หรือรับประทานควรชะลอไว้ก่อน มิเช่นนั้นเท่ากับเรานำของที่เสี่ยงไปให้คนอื่น ควรรอให้หน่วยงานภาครัฐ หรือร้านค้ามีการรับประกันความปลอดภัย รวมทั้ง อยากให้อย.ขยายผลไปถึงผักผลไม้อย่างอื่นด้วย เพราะมองว่า องุ่นไชน์มัสแคท เป็นแค่ตัวเปิดประเด็นเท่านั้น
“ขอให้ผู้บริโภคเวลาซื้อผักหรือผลไม้ อย่าซื้อตามความชอบอย่างเดียว ให้ซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และรับประกัน ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ซื้ออะไรต้องมีมาตรฐาน พลังผู้บริโภคคิดแบบนี้มากๆ จะกำหนดผู้ประกอบการ จะขายอะไรต้องสำแดงมาตรฐาน” ภก.ภาณุโชติทิ้งท้าย