กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน มอเตอร์ไซค์รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS หรือ CBS มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67
สำนักข่าวอิศรา (www.isranew.org) รายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ขอให้เร่งบังคับและมีมาตรการสนับสนุนการติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) สำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันที่เข้าสู่ตลาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 กรมการขนส่งทางบกได้จัดรับฟังความเห็นร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลื่อนระยะเวลาการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) หรือ ระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) ในรถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากเดิมที่ต้องบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ออกไปเป็น 1 มกราคม 2569 ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต สิทธิ และความปลอดภัยของผู้บริโภค นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: สภาผู้บริโภคค้านกรมขนส่งฯ เลื่อนติดเบรก CBS ในมอเตอร์ไซค์รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ยันกระทบความปลอดภัยผู้บริโภค
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภค ลงวันที่ 27 กันยายน 2567 สรุปใจความสำคัญได้ว่า จากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน รวมทั้งได้เปิดรับฟังความเห็นขอประชาชนทั่วไป ขบ. เห็นควรบังคับใช้ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 นั่นหมายความว่า รถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ต้องติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2564 และจะมีผลบังคับใช้เริ่ม 1 มกราคม 2567 ซึ่งผู้ประกอบการมีเวลาพอสมควรในการปรับตัวเพื่อให้สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นไปตามประกาศฯ อีกทั้งการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวของ ขบ. จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเบรก ABS หรือ CBS ที่ปลอดภัย และหลังจากนี้ สภาผู้บริโภคจะลงพื้นที่สำรวจรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ เพื่อติดตามตรวจสอบว่าเป็นไปตามประกาศของ ขบ. หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นการบังคับใช้ประกาศระบบเบรก CBS หรือ ABS แล้ว ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอถึงภาครัฐและผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ในเรื่องการติดระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น รวมถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเรื่องการเบรก รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมด้านราคา และการดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตที่ผลิตหมวกกันน็อกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกทุกคันในราคาที่เข้าถึงได้ รวมทั้งเข้าถึงหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน และนำหมวกกันน็อกที่ไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (ม.อ.ก) ควบคู่คิวอาร์โค้ด และตกมาตรฐานการทดสอบออกจากท้องตลาด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ นอกจากการมียานพาหนะและอุปกรณ์ที่ปลอดภัยแล้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำเป็นต้องมีทักษะในการใช้ระบบเบรกที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย