นายกฯ มอบนโยบาย ตชด. ชื่นชมผลงาน ภารกิจปิดทองหลังพระพัฒนาหลายมิติ กำชับสกัดกั้น ปราบปรามยาเสพติดทะลักชายแดน กระชับความร่วมมือหน่วยงานอื่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมามอบนโยบาย และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติราชการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมื พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ), พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนปราณีต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ( ผบช.ตชด. ) พร้อมด้วย รอง ผบช.ตชด. ผู้บังคับหน่วย ตชด.ทั่วประเทศร่วมรับฟังนโยบาย
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจแถวกองเกียรติยศ และทำความเคารพอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นมอบนโยบายแก่ตำรวจ ตชด. ที่ห้องวิปุลากร อาคารจุลละพราหมณ์ โดย พล.ต.ท.ยงเกียรติ ฯ นำเสนอภารกิจและผลการปฏิบัติของ ตชด. ทั้งมิติด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ด้านความมั่นคง ด้านพัฒนาสังคม โดยเฉพาะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 222 ตั้งอยู่แนวชายแดนทั่วประเทศ
นายเศรษฐา กล่าวว่า เดินทางมาวันนี้ขอชื่นชม ตชด. ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจที่ทำภารกิจหลายมิติ แต่สังคมไม่ค่อยรับรู้ ทั้งมิติด้านการดูแลความมั่นคงชายแดนของประเทศ ภารกิจด้านการป้องกัน ปราบปราม สกัดกั้นอาชญากรรมตามแนวชายแดน โดยเฉพาะยาเสพติด สินค้าหนีภาษี สินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีภารกิจด้านการพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ภารกิจที่ ตชด.ทำอยู่ ส่งผลกระทบเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่นการสกัดกั้นยางพาราจากนอกประเทศ ส่งผลทำให้ราคายางขึ้นผลดี สินค้าเกษตรหลายอย่างราคาดีขึ้น ส่งผลดีด้านปากท้องของประชาชน ขณะที่ภารกิจในด้านความมั่นคงที่ควบคู่กับการพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ขอให้เสริมอีก โดยให้คู่สมรสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ผูกมิตรกับชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
“เรื่องสำคัญคือเรื่องยาเสพติดซึ่ งเป็นปัญหาใหญ่สำคัญเทียบเรื่องปากท้อง ยาบ้าทะลักเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่ตำรวจทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เสียสละเวลา เสี่ยงต่ออันตรายทั้งหลาย เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน ซึ่งทราบกันดีว่า 90% ของยาเสพติดมาจากต่างประเทศ การป้องกัน สกัดกั้นจึงเป็นงานที่ท้าทาย ขอให้ทำต่อเนื่อง และประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยไม่มีเส้นแบ่ง ทำงานร่วมกันจะได้จัดการเรื่องยาเสพติดให้สิ้นซาก โดยวันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อน มี จังหวัดนำร่องคือ จว.น่าน และ จว.ร้อยเอ็ด ขอให้ช่วยกันทำ ในการสกัดกั้น ปราบปราม โดยตั้งเป้าว่าสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ จะเห็นเป็นรูปธรรม ชีวิตพี่พี่น้องประชาชนจะได้อยู่เย็นเป็นสุข” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ภารกิจของ ตชด. โดยเฉพาะสวัสดิการของกำลังพล อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เสื้อเกราะ เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะสามารถให้เป็นต่อกับผู้ร้าย รัฐบาลยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่
จากนั้น ผบ.ตร. และ ผบช.ตชด. นำนายกรัฐมนตรี ได้เดินสำรวจแฟลตพักอาศัยของ ตชด.ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ บช.ตชด. ซึ่งมีอยู่ 8 อาคาร โดยนายกรัฐมนตรีห่วงใยสวัสดิการของตำรวจ สั่งการให้ ตร. และ บช.ตชด. สำรวจความต้องการ และเสนองบประมาณในการจัดสร้าง ปรับปรุงแฟลต บ้านพัก รวมทั้งจัดหาเครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น ส่งให้รัฐบาล โดยจะดำเนินการจัดสรรให้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเน้นย้ำให้ ตชด.ไปกำหนดแนวทางเพื่อยกระดับสวัสดิการครู ตชด. และพัฒนาคุณภาพของครูโรงเรียน ตชด.
ด้าน พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนประณีต ผบช.ตชด. เปิดเผยว่า ตชด. ได้ดำเนินงานตามสั่งการ 11 ข้อของนายกรัฐมนตรี ที่ให้นโยบายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อย่างเข้มข้น โดยสั่งการกำชับให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 - 44 เพิ่มความเข้มในการลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตามช่องทางเข้าออกตามแนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่าง ๆ ทั้งในเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลักลอบลำเลียงยาเสพติด สิ่งของ สินค้าผิดกฎหมายทุกชนิด เช่น ยางพารา เนื้อสุกร สินค้าหนีภาษีต่าง ๆ
ผบช.ตชด. เผยว่า กำชับให้กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ และกองบังคับการฝึกพิเศษ จัดกำลังพล ยานพาหนะ และอาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็น เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 ตชด.ปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามสกัดกั้นอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติการการลาดตระเวนพื้นที่ จำนวน 12,638 ครั้ง ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด จำนวน 15,079 ครั้ง และมีผลการปฏิบัติในการปราบปรามอาชญากรรม 6 กลุ่ม ดังนี้
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลการจับกุมทั้งสิ้น 3,763 ราย (คดี) ผู้ต้องหา 4,112 คน ของกลาง ยาบ้า 266,861,061 เม็ด, ไอซ์ 2,399.55 กก., ฝิ่น 95.88 กก., เฮโรอีน 266.01 กก.
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มีผลการจับกุมทั้งสิ้น 750 ราย(คดี) ผู้ต้องหา 3,164 คน ( จำแนกสัญชาติต่าง ๆ ดังนี้ สัญชาติเมียนมา 2,404 คน, สัญชาติลาว 313 คน, สัญชาติกัมพูชา 279 คน และสัญชาติอื่น ๆ 168 คน )
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลการจับกุมทั้งสิ้น 283 ราย (คดี) ผู้ต้องหา 109 คน มูลค่าความเสียหาย 18.64 ล้านบาท ไม้ของกลาง ได้แก่ ไม้พะยูง, ไม้สัก, ไม้กระยาเลย และไม้ชนิดอื่นๆ รวม 592 ลูกบาศก์เมตร
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม และวัตถุระเบิด มีผลการจับกุม 529 คดี ผู้ต้องหา 532 คน ( ของกลาง เป็นอาวุธปืนชนิดต่าง ๆ รวม 545 กระบอก, ระเบิดขว้าง 4 ลูก, เครื่องยิงลูกระเบิด 29 กระบอก และกระสุนปืน 11,589 นัด )
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าหลบหนีภาษีศุลกากร มีผลการจับกุม 173 คดี ผู้ต้องหา 144 คน ( ของกลาง ได้แก่ บุหรี่ 35,460 ซอง, สุรา 24,572 ขวด, ข้าวเปลือก 1,502 กก., น้ำมันเบนซิน 4,301 ลิตร., น้ำมันดีเซล 6,680 ลิตร, รถยนต์ 28 คัน และรถจักรยานยนต์ 90 คัน )
-
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีผลการจับกุม 39 คดี ผู้ต้องหา 12 คน ของกลาง รถยนต์ 33 คัน และจักรยานยนต์ 51 คัน.