ป.ป.ช. ยโสธรลงพื้นที่ตรวจสอบกรณี ถนน 5.8 ล้าน พบสภาพการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน บางจนหินโผล่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธร ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ CDC เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 จากกรณีที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ Facebook เพจ หมาเฝ้าบ้าน เรื่อง “บางจนหินโผล่ ถนน 5.8 ล้าน” และก่อนหน้านี้มีการแจ้งเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชน เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ของเทศบาลตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร นั้น
เนื่องจากประเด็นดังกล่าว ได้มีประชาชนทำหนังสือร้องเรียนผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ ดังกล่าวด้วย นายชัยวัฒน์ ทองเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธร จึงได้มอบหมายให้กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 และตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ณ พื้นที่ถนนเทศบาล 18 (จันทรุเบกษา) หมู่ที่ 2 บ้านลุมพุก ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ชื่อโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินงบประมาณ 5,799,999 บาท (ห้าล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบว่าโครงการก่อสร้างถนน ฯ ดังกล่าวมีปัญหาและข้อที่น่าสงสัยถึงความโปร่งใสของการโครงการก่อสร้าง ดังนี้
1. สภาพผิวถนนตลอดสายพบว่าผิวคอนกรีตหลุดร่อน มากกว่า 80% ของผิวถนน
2. ถนนบางช่วงมีการยุบตัว ซึ่งอาจเกิดจากการบดอัดถนนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชั้นคอนกรีตที่บางกว่ามาตรฐาน และถนนบางช่วงแตกร้าวหลายจุด
3. ปากท่อระบายน้ำมีขนาดใหญ่มาก ทั้งที่ภูมิประเทศไม่น่าจะมีน้ำขังที่ต้องการปากท่อระบายน้ำขนาดใหญ่แต่อย่างใด เมื่อปากท่อระบายน้ำมีขนาดใหญ่ จึงใช้ฝาตะแกรงเหล็กขนาดใหญ่ในด้านพื้นที่ด้วย แต่ฝาตะแกรงที่มีขาดใหญ่ในด้านพื้นที่แต่เส้นเหล็กฝาตะแกรงไม่ได้มีขนาดใหญ่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ จึงทำให้มีความแข็งแรงของฝาตะแกรงน้อยไม่สามารถรับน้ำหนักของรถยนต์ได้ ฝาตะแกรงจึงเกิดการยุบตัวตรงกลางและขอบลอย ขึ้นหลายจุด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก
4. การวางฝาตะแกรงหลายจุดไม่ได้มาตรฐาน โดยพบว่าบางจุดฝาตะแกรงมีขอบบ่ารองรับ บางจุดวางฝาตะแกรงบนเสาเหล็กเส้นสั้นๆ และบางจุดขอบปากท่อระบายน้ำที่เชื่อมกับฝาตะแกรงแตกร้าวเสียหาย ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
5. ถนนเส้นนี้เดิมมีการวางท่อระบายน้ำด้านข้างอยู่แล้ว แต่โครงการ ฯ ดังกล่าวกลับมาสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ไว้ตลอดแนวกลางถนน ซึ่งอาจไม่เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณ
6. ป้ายโครงการไม่มีรายชื่อผู้ตรวจรับพัสดุ
7. หลุมปากท่อระบายน้ำบางจุดที่ไม่มีน้ำขัง เมื่อมองลงไปพบว่าไม่มีท่อหรือรูของท่อระบายน้ำ แต่ถูกฉาบไว้ด้วยคอนกรีตโดยรอบทั้ง 4 ด้าน แต่หลุมปากท่อระบายน้ำบางจุดที่อยู่ใกล้บ้านเรือน (ซึ่งอาจเป็นน้ำที่ระบายมาจากบ้านเรือน) กลับมีน้ำขังในหลุมเกือบเต็มหลายจุด ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าแล้งน้ำไม่ไหลไปตามท่อระบายน้ำ จึงน่าสงสัยว่ามีการวางท่อระบายน้ำเชื่อมถึงกันจริงหรือไม่.
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการทำหนังสือร้องเรียนจากประชาชนด้วย จากการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ได้พบหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงสภาพการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน สะท้อนถึงการดำเนินโครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ฯ ดังกล่าว ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ อย่างไร นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธร จะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยเร็วที่สุด