ครม.รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยรายงาน ‘แผนสู้ภัยแล้งปี 67’ จำนวน 8 ข้อ ‘ตั้งคณะติดตามสถานการณ์-ทบทวนแผนเผชิญเหตุ-สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ-วางแผนบริหารจัดการน้ำ-การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร-จัดกำลังเจ้าหน้าที่-สร้างความรับรู้-รายงานผล’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranewws.org) รายงานว่า วันที่ 23 มกราคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัยและการช่วยเหลือ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญในส่วนของการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 ตามข้อสั่งการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ดังนี้
1. จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า ปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ พร้อมทั้งวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อผู้อำนวยการจังหวัด ในการสั่งการหน่วยงานตามแผนเผชิญเหตุภัยแล้งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงที
2. ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำและนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มาใช้ประกอบในการกำหนดหน่วยงานการแบ่งมอบพื้นที่ และมอบหมายภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ครอบคลุมถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชน
3. สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยเกิดปัญหากรณีขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ที่ในห้วงฤดูฝนมีปริมาณฝนตกน้อย จนไม่สามารถเก็บกักน้ำในห้วงที่ผ่านมาได้ พร้อมทั้งให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานของกรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจน
4. วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด ในการกำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งกรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดแนวงทางการระบายและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ให้เพียงพอ
5. การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะกรณีพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตร เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บน้ำเพิ่มเติมในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
6. เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานในพื้นที่ไว้เป็นการล่วงหน้า โดยจัดเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ระมัดระวังอย่าให้เกิดปัญหาจากกรณีการแย่งชิงน้ำ หรือการนำประเด็นการขาดแคลนน้ำมาใช้จัดตั้งกลุ่มมวลชน เพื่อสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง
7. สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ภาคส่วนต่าง ๆ มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการซ่อมสร้าง บำรุงรักษาภาชนะเก็บน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
8. รายงานผลการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 สถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง