6 หน่วยงาน MOU ความร่วมมือด้านวิชาการ ตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สําหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง-ญาติสายตรงแบบครบวงจร เพิ่มการเข้าถึง ช่วยวางแผนป้องกัน รักษาได้ทันเวลา ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
สำนักข่าววอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมการแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเปิดการประชุมเครือข่ายการให้บริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงแบบครบวงจร
นายสันติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมที่ทำให้ผู้หญิงไทยต้องเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ในนโยบายการดำเนินงาน ปี 2567 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นระบบ ทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา ดูแลฟื้นฟูกายใจ รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านโรคมะเร็งให้เกิดการดูแลแบบครบวงจร ซึ่งจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้การตรวจทางพันธุกรรมทำได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง สามารถใช้ผลการตรวจไปเป็นแนวทางการวางแผนป้องกันหรือรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
นายสันติ กล่าวต่อว่า แม้การตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 จะถูกกำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์ของคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงญาติสายตรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 แต่พบว่ายังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการนี้ เพราะการส่งตรวจจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งหรือโรงเรียนแพทย์ ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง อย่างเช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ก็มีศักยภาพที่จะให้คำปรึกษาและเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ รวมถึงให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งการลงนามความร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงานในวันนี้ จะทำให้เกิดรูปแบบการบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การให้คำปรึกษาก่อนตรวจ การตรวจ การให้คำปรึกษาหลังตรวจ การรักษา ติดตาม ป้องกัน ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากขึ้น ที่สำคัญคือประชาชนไม่ต้องเสียเงินค่าตรวจ ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าเข้าเกณฑ์ได้รับการตรวจยีน
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการลงนามครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยจะร่วมกันพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม มีการเชื่อมโยงบริการของหลายหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจะร่วมกันพัฒนาด้านวิชาการให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ และสร้างความพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ผู้ที่ตรวจพบมียีนกลายพันธุ์จะได้รับการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการรักษาจะเกิดผลสำเร็จมากกว่า ตลอดจนได้ข้อมูลคำแนะนำถึงทางเลือกอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ในส่วนของการประชุมฯ ประกอบด้วยกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอภิปรายเกี่ยวกับ การเตรียมบุคลากร การขึ้นทะเบียนหน่วยตรวจ/หน่วยบริการให้คำปรึกษา การจ่ายเงินค่ารักษา การตรวจหาการกลายพันธุ์ฯ การให้คำปรึกษา การวางแผนรักษา การติดตามการรักษา โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเอกชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 200 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการความเชื่อมโยงการดำเนินงาน จากหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ อาทิ กรมการแพทย์ โรงสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน และหน่วยงานภาคเอกชน
“ทุกโรงพยาบาล ที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว อยู่ในกลุ่มต้องส่งตรวจการกลายพันธุ์ของผู้ป่วย ญาติ ก็ส่งได้ทันที ตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดบริการแล้วที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เพียงยกโทรศัพท์หาที่เบอร์ 042207364-6 ต่อ 312, 316, 322 หรือ 02-9510000 ต่อ 98095, 98096 หรืออีเมล [email protected]” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย