'สภาองค์กรของผู้บริโภค' จัดอันดับ ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์มากสุดในปี 2566 สินค้าและบริการทั่วไปทะลุ 10,150 เรื่อง การเงินและธนาคาร 2,084 เรื่อง การสื่อสารและคมนาคม 918 เรื่อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ 'สภาผู้บริโภค' เผยได้รวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ในปีงบประมาณ 2566 (เดือนตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) พบมี 'ผู้บริโภค' จากการรับเรื่องร้องทุกข์ทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดใน 15 จังหวัด และองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค โดยในปีนี้มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง
ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 71,703,984.46 บาท ส่วนที่เหลืออีก 3,305 เรื่อง อยู่ระหว่างการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามกรณีใดที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือยุุติปัญหาได้ สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค
เมื่อลงรายละเอียดในภาพรวมเรื่องร้องทุกข์ที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในปีงบประมาณ 2566 ปัญหาที่มีผู้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคมากที่สุด คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 10,150 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 62.88 เกินครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าเรื่องร้องทุกข์ในปีงบประมาณ 2565 ถึง 7,875 เรื่อง
ในสถานการณ์โควิด19 ที่เริ่มซาลง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการบันเทิง อาทิ คอนเสิร์ต แฟนมีตตี้ง หรืองานอีเว้นท์ต่าง ๆ ได้เริ่มกลับมาจัดงาน เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบริการเหล่านี้ก็ได้พบกับปัญหาที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแต่ไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ การจัดงานที่ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ในครั้งแรก ไม่สามารถคืนบัตรได้ แจ้งราคาบัตรโดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียม การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน รวมถึงราคาบัตรที่แพงเกินไป ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนได้รับความเดือดร้อนในปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันจึงได้ส่งเสียง ส่งต่อช่องทางและร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคถึง 5,906 เรื่อง ในอีกทางนั้นการที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก อาจสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ร้องทุกข์เข้ามาในประเด็นปัญหาข้างต้นอยู่ในวัยที่โตมากับเทคโนโลยีและมีพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว จึงเข้าถึงข้อมูลว่าตัวเองกำลังถูกผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบและต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตัวเองได้รับความเป็นธรรม จนกระทั่งการเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือและใช้เครื่องมือการสื่อสารเพื่อร้องทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้างต้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ สภาผู้บริโภคจึงได้ติดต่อและประสานงานกับบริษัทผู้จัดงานหรือบริษัทที่จัดจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตต่าง ๆ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการชดเชยเยียวยา
ความเสียหาย รวมถึงการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หน่วยงานกำกับดูแลให้เข้ามาจัดการปัญหา ผ่านการออกหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเรื่องการทำสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค โดยจะกำหนดสิ่งที่ต้องระบุในสัญญาและสิ่งที่ห้ามระบุในสัญญา เช่น การซื้อสินค้าแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และหากสัญญาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะเพื่อให้การใช้สิทธิของผู้บริโภคในทุกประเด็นไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาไม่ควรพิจารณาเป็นรายธุรกิจหรือรายกิจการ เพราะการแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการไล่ตามปัญหาและต้องแก้ไขกันไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาเชิงป้องกันด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์กลางด้านสัญญาจึงเป็นผลดีกว่าในหลายมิติ
นอกจากประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญาในด้านสินค้าฯ ข้างต้น ปัญหาการซื้อสินค้าทางออนไลน์และปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเข้าไปใช้บริการเสริมความงามเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในจำนวนใกล้เคียงกัน 1,474 เรื่อง และ 1,110 ตามลำดับ สำหรับการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์นั้นส่วนใหญ่เป็นกรณีการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าในเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่ไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับเงินคืน หรือการได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อไป ซึ่งผู้บริโภคมักถูกหลอกหลวงจากการที่มิจฉาชีพซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กโปรโมทสินค้าหรือเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจขายสินค้า โดยในช่วงแรกทำทีส่งสินค้าให้เพื่อให้มีเครดิตว่าเป็นร้านค้าที่ไม่ได้คิดจะหลอกลวง เพราะมีผู้บริโภคการันตีว่าได้รับสินค้า แต่เมื่อผ่านไปสักพักจนผู้บริโภครายอื่น ๆ หลงเชื่อ จึงจะหลอกให้โอนเงินแต่สุดท้ายกลับไม่ส่งสินค้าให้
ส่วนในกรณีการได้รับความเสียหายจากการเข้าไปใช้บริการเสริมความงามนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับกรณีของการจองหรือกดบัตรคอนเสิร์ต แต่คลินิกหรือสถานเสริมความงามกลับผิดสัญญาตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่ครั้งแรก โดยผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนกรณีสถานเสริมความงามนั้นได้รับความเสียหายจากการที่คลินิกหรือสถานเสริมความงามอ้างว่าปิดปรับปรุงหรือปิดกิจการทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้ อาทิ กรณีอาร์ฑิชัยคลินิกที่อ้างปิดปรับปรุงชั่วคราว หรือกรณีคลินิกเอสเตลล่าที่ปิดดำเนินการโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้า จนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในกรณีของการซื้อขายสินค้าในออนไลน์ สภาผู้บริโภคได้ประสานความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดการแก้ไขปัญหา รวมทั้งยังมีการทำสื่อเผยแพร่เพื่อให้ความรู้และเตือนภัยผู้บริโภค อีกทั้งหน่วยงานประจำจังหวัดรวมถึงองค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคลงพื้นที่ให้ความรู้ทั้งเรื่องสิทธิผู้บริโภค และการรับมือกับกลโกงออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและมีข้อมูลในการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค
ขณะที่กรณีของเรื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการที่สถานเสริมความงามนั้น สภาผู้บริโภคได้ติดต่อเพื่อเจรจากับบริษัททั้งสอง โดยที่การเจรจากับคลินิกอาร์ฑิชัยมีผลสรุปออกมาได้ 2 ทาง ได้แก่ คลินิกเสนอให้ผู้บริโภคที่ยังเหลือคอร์สเสริมความงามอยู่สามารถเข้าไปใช้บริการต่อได้ ส่วนผู้บริโภคที่ไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้วและต้องการเงินคืนสามารถใช้สิทธิทางศาลต่อสู้และเรียกร้องเงินคืนได้ โดยที่สภาผู้บริโภคจะเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขณะที่กรณีคลินิกเอสเตลล่าที่ปิดดำเนินการโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้านั้น คณะอนุกรรมการด้านคดีผู้บริโภค สภาผู้บริโภคมีมติเดินหน้าฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม
เนื่องจากเห็นว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากและไม่สามารถเจรจาหรือไกล่เกลี่ยกับบริษัทเพื่อให้คลินิกคืนเงินให้ผู้บริโภคได้
ส่วนปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ปัญหาด้านการเงินและการธนาคาร จำนวน 2,084 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 12.91 ซึ่งสัดส่วนการร้องทุกข์เข้ามานั้นน้อยกว่าในปีงบประมาณ 2565 แต่กลับเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด19 และในปัจจุบันยังคงมีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันโควิดหรือถูกปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สภาผู้บริโภคจึงได้ช่วยเหลือผู้เอาประกันที่ถูกปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ 1) ติดต่อและประสานงานกับบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของกรมธรรม์เพื่อให้จ่ายค่าสินไหมให้กับผู้บริโภค แต่ทั้งนี้จากการเจรจาไกล่เกลี่ยพบว่าบางกรณีมีปัญหาเรื่องการออกใบรับรองแพทย์ สภาผู้บริโภคจึงได้แจ้งผู้เอาประกันเข้าไปแก้ไขใบรับรองแพทย์และยื่นขอเคลมค่าสินไหมอีกครั้ง 2) สภาผู้บริโภคเป็นที่ปรึกษาให้ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง กรณีที่บริษัทฯ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้ และ 3) ฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค ในการยื่นฟ้องทิพยประกันภัยที่ขอยื่นเป็นคดีกลุ่มนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลชั้นต้นนัดไต่สวนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายและตัวแทนจากบริษัททิพยประกันภัย
อันดับที่ 3 เป็นปัญหาด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 918 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.69 กรณีการถูกหลอกลวงจากข้อความสั้น (SMS) ที่มิจฉาชีพส่งเข้ามาบนโทรศัพท์ของผู้บริโภคและแนบลิงก์มาให้กด ยังเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคพบไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเผลอกดอาจสูญเงินหรือถูกขโมยข้อส่วนตัว และประเด็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในด้านการสื่อสารฯ มากไม่แพ้กันคือ การถูก ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ โทรเข้ามาและอ้างว่ามาจากหน่วยงานหรือองค์กรของภาครัฐ รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยีปลอมเป็นเสียงของบุคคลที่รู้จักและหลอกให้โอนเงิน ทั้งนี้เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ต้องอาศัยความรวดเร็วเพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับเงินคืนหรือได้รับการชดเชยเยียวยา ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บก.ปคบ. บช.สอท. รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ติดตามและสกัดเส้นทางการเงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้โอนเงิน
ขณะที่เรื่องร้องทุกข์ที่เหลือนั้นจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารที่เป็นซากแมลง เศษพลาสติกหนังยาง หรือของแปลกปลอมอื่น ๆ อีกทั้งยังพบประเด็นที่ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาสุขภาพได้หรือการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งที่โรงพยาบาลไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บเพิ่มเติม รวมถึงปัญหาด้านการขนส่งและยานพาหนะที่ผู้บริโภคมักพบกับปัญหาค่าโดยสาร ถูกให้นั่งเบาะเสริม คนขับพูดจาไม่สุภาพ หรือขับรถเร็วเกินกำหนด นอกจากนี้ผู้บริโภคยังพบกับปัญหาในประเด็นความไม่เป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายบ้านหรืออาคารชุดต่าง ๆ ปัญหาบ้านร้าว หรือแม้แต่ปัญหาการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน
หากมองภาพรวมของการช่วยเหลือผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นรายบุคคลและกลุ่มเฉพาะที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ผ่านการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคในทุกช่องทางโดยการให้คำปรึกษา คำแนะนำ การช่วยเจรจาและไกล่เกลี่ย รวมถึงหากไม่สามารถตกลงได้จะเดินหน้าฟ้องร้องคดีแทนและสนับสนุนการฟ้องร้องคดีให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้สภาผู้บริโภคเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องโดยเน้นว่ากระบวนการเอาเปรียบต้องยุติเร็วที่สุดและผู้บริโภคต้องสูญเสียน้อยที่สุด
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าสภาผู้บริโภคยังได้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในหลายกรณี เนื่่องจากการแก้ไขความเสียหาย หรือการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคทั้งประเทศได้รับการคุ้มครองผ่านการจัดทำข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในปีงบประมาณ 2566 สภาผู้บริโภคได้จัดทำนโยบายระดับจังหวัดและระดับประเทศ รวม 36 เรื่อง แบ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ 25 เรื่อง และนโยบายระดับจังหวัด 9 เรื่อง
เมื่อลงรายละเอียดนโยบายระดับประเทศ 25 ข้อ แบ่งได้เป็นข้อเสนอแนะ 10 ข้อ เช่น เรียกร้องให้สถานพยาบาลแสดงรายละเอียดต้นทุนค่าบริการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เพื่อนำไปประเมินกลไกการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน กรณี UCEP ให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงกฎหมายเรื่องควบคุมอาคารให้สอดคล้องกับบริบทและลักษณะทางกายภาพของเมืองมากขึ้น เป็นต้น ข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อ เช่น การยกระดับสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน โดยเสนอให้ปรับสิทธิประโยชน์ให้ทัดเทียมกับสิทธิบัตรทอง รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินบำนาญถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาทให้กับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 7 มาตรการ เช่น การควบคุมการใช้กัญชา - กัญชงในอาหาร การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย สินค้าออนไลน์ เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอแนะนโยบายระดับจังหวัด 9 ข้อ แบ่งเป็น ข้อเสนอแนะ 1 ข้อ ได้แก่ เรื่องการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐโดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ระหว่างการรับรองสถานะชาติไทย ของหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อ เช่น การแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 5 มาตรการ เช่น การแก้ไขปัญหาการเลี่ยงจัดสรรที่ดินของผู้ประกอบการธุรกิจ บ้านจัดสรรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รณรงค์เรื่องการมีถุงลมนิรภัยที่ปลอดภัย ของหน่วยงานจังหวัดพะเยา เป็นต้น
ปัจจุบันข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้เสนอไปในปีงบประมาณ 2566 ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 ประเด็น ดังนี้ 1) มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการนำพืชกัญชา และกัญชงมาเป็นวัตถุดิบในอาหาร 2) การเร่งยุติการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซีดาฟในแพลตฟอร์มออนไลน์ 3) ข้อเสนอให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาลแสดงรายละเอียดต้นทุนค่ารักษาบริการสิทธิ UCEP ในงบการเงิน 4) การออกใบอนุญาตติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตกรุงเทพมหานคร 5) การแก้ไขปัญหากรณีการขายทุเรียนอ่อนในจังหวัดกาญจนบุรี 6) การจำหน่ายยาในตลาดนัด ร้านค้า และท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม 7) ปัญหาการเลี่ยงขอจัดสรรที่ดินบ้านจัดสรร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8) การรณรงค์เรื่องถุงลมนิรภัยไม่ปลอดภัย ในจังหวัดพะเยา และ 9) การใช้สารเคมีที่ปลอดภัย ในจังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคังเดินหน้าเสนอแนะ ผลักดันนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการผลักดันเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและแรงผลักดันจากประชาชนทุกคนในการกระตุ้นและกดดันให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าสภาผู้บริโภคยังได้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในหลายกรณี เนื่่องจากการแก้ไขความเสียหาย หรือการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคทั้งประเทศได้รับการคุ้มครองผ่านการจัดทำข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในปีงบประมาณ 2566 สภาผู้บริโภคได้จัดทำนโยบายระดับจังหวัดและระดับประเทศ รวม 36 เรื่อง แบ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ 25 เรื่อง และนโยบายระดับจังหวัด 9 เรื่อง
เมื่อลงรายละเอียดนโยบายระดับประเทศ 25 ข้อ แบ่งได้เป็นข้อเสนอแนะ 10 ข้อ เช่น เรียกร้องให้สถานพยาบาลแสดงรายละเอียดต้นทุนค่าบริการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เพื่อนำไปประเมินกลไกการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน กรณี UCEP ให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงกฎหมายเรื่องควบคุมอาคารให้สอดคล้องกับบริบทและลักษณะทางกายภาพของเมืองมากขึ้น เป็นต้น ข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อ เช่น การยกระดับสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน โดยเสนอให้ปรับสิทธิประโยชน์ให้ทัดเทียมกับสิทธิบัตรทอง รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินบำนาญถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาทให้กับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 7 มาตรการ เช่น การควบคุมการใช้กัญชา - กัญชงในอาหาร การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย สินค้าออนไลน์ เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอแนะนโยบายระดับจังหวัด 9 ข้อ แบ่งเป็น ข้อเสนอแนะ 1 ข้อ ได้แก่ เรื่องการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐโดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ระหว่างการรับรองสถานะชาติไทย ของหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อ เช่น การแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 5 มาตรการ เช่น การแก้ไขปัญหาการเลี่ยงจัดสรรที่ดินของผู้ประกอบการธุรกิจ บ้านจัดสรรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รณรงค์เรื่องการมีถุงลมนิรภัยที่ปลอดภัย ของหน่วยงานจังหวัดพะเยา เป็นต้น
ปัจจุบันข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้เสนอไปในปีงบประมาณ 2566 ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 ประเด็น ดังนี้ 1) มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการนำพืชกัญชา และกัญชงมาเป็นวัตถุดิบในอาหาร 2) การเร่งยุติการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซีดาฟในแพลตฟอร์มออนไลน์ 3) ข้อเสนอให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาลแสดงรายละเอียดต้นทุนค่ารักษาบริการสิทธิ UCEP ในงบการเงิน 4) การออกใบอนุญาตติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตกรุงเทพมหานคร 5) การแก้ไขปัญหากรณีการขายทุเรียนอ่อนในจังหวัดกาญจนบุรี 6) การจำหน่ายยาในตลาดนัด ร้านค้า และท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม 7) ปัญหาการเลี่ยงขอจัดสรรที่ดินบ้านจัดสรร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8) การรณรงค์เรื่องถุงลมนิรภัยไม่ปลอดภัย ในจังหวัดพะเยา และ 9) การใช้สารเคมีที่ปลอดภัย ในจังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคังเดินหน้าเสนอแนะ ผลักดันนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการผลักดันเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและแรงผลักดันจากประชาชนทุกคนในการกระตุ้นและกดดันให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย