ครม.ยกเลิก พ.ร.บ.ความผิดจากการใช้เช็ค 2534 ทั้งฉบับ แก้ไม่ต้องจำคุก เหลือโทษทางแพ่ง ด้านสมาคมธนาคารไทยค้าน ชี้ยังมีผู้กระทำผิดจากเจตนาทุจริตอยู่ ต้องแยกให้ชัดจากคนที่ไม่ได้ตั้งใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
สาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญํติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ระหว่างวันที่ 2-16 สิงหาคม 2565 (รวม 15 วัน) และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งได้เผยแพร่การรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1.กำหนดมาตรการเพื่อรองรับกรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาแล้ว และในกระบวนพิจารณาของศาล เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายและหากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
2.กำหนดศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง
3.กำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อปล่อยตัวผู้ต้องโทษ (1) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุก (2) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษ
4.กำหนดวิธีการคำนวณโทษจำคุกในกรณีที่ผู้ต้องโทษจำคุกได้รับโทษจำคุกสำหรับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แลความผิดตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และถ้าโทษที่ได้รับไปแล้วเท่ากับหรือเกินโทษที่ได้รับสำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษโดยทันที
5.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
@สมาคมธนาคารไทย ค้านต้องมีโทษคุก
โฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากสมาคมธนาคารไทย ที่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ความผิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทั้งฉบับ เพราะเจ้าหนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม และเห็นว่าควรมีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่มีเจตนาจะออกเช็คโดยไม่สุจริต กล่าวคือ ต้องแยกเป็นกรณีระหว่างผู้ที่จงใจจะออกเช็คโดยไม่สุจริต กับผู้ที่ไม่ได้จงใจทุจริต คือ ออกเช็คไปแล้วแต่เงินหมุนไม่ทันจริงๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรมีการออกมาตรการคู่ขนาน เช่น หากเช็คของผู้ใดเด้ง ก็ให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลผู้นั้นไปให้เครดิตบูโร เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาที่จะไม่อนุญาตให้ผู้นั้นใช้เช็ค หรือมีระยะเวลาห้ามใช้เช็ค 3 ปี หรือการเพิ่มค่าปรับเป็น 2 เท่า เป็นต้น ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบในส่วนนี้ และขอให้กระทรวงยุติธรรม รับข้อสังเกตจากสมาคมธนาคารไทย ไปพิจารณา เพื่อหาวิธีปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/th/photos/