ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.แก้ประมวลแพ่ง-พาณิชย์ ดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม นิยาม ‘บุคคล’ จากระบุเพศ ‘ชาย*หญิง-สามี-ภรรยา’ ก่อนส่งกฤษฎีกาตรวจร่าง ดันเข้าสภาฯต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่…พ.ศ…. โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอ
หลักการสำคัญคือ การแก้ไขคำว่า ‘ชาย’ ‘หญิง ‘สามี’ และ ‘ภรรยา’ โดยให้เป็นบุคคล ผู้หมั้น,ผู้รับหมั้น และคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุม เพื่อให้ต่อไปคนเพศเดียวกันสามารถสมรสได้ โดยไม่ตัดสิทธิ์เรื่องเดิมที่คู่สมรสเพศชายและหญิง สามารถสมรสกันได้อยู่แล้ว
อีกประเด็นสำคัญคือ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบำเหน็จและบำนาญ ซึ่งได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยกระทรวงยุติธรรมรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 - 14 พฤศจิกายน 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป