สภาผู้บริโภค ค้าน กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศ ‘เลื่อนการติดตั้งระบบห้ามล้อ CBS และ ABS ในรถจักรยานยนต์กระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี’ ออกไปอีกสองปี ยืนยันกระทบความปลอดภัยผู้บริโภค พร้อมเสนอบังคับติดตั้งระบบป้องกันการล็อกของล้อ หรือ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกคัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกได้จัดรับฟังความเห็นร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เป็นการทั่วไปผ่านช่องทางเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลื่อนระยะเวลาการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) หรือ ระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) ในรถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากเดิมที่ต้องบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ออกไปเป็น 1 มกราคม 2569 นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค 33 จังหวัดที่ดำเนินโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว ที่จะขยายระยะเวลาการบังคับใช้ระบบห้ามล้อรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร จำนวนกว่า 275,000 คัน ออกไปอีกสองปี เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต สิทธิ และความปลอดภัยของผู้บริโภค
นายคงศักดิ์ อธิบายว่า สภาผู้บริโภคได้พิจารณาร่างประกาศฉบับใหม่ของกรมการขนส่งทางบกฯ พบว่ามีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงจากประกาศฉบับเดิมคือ การเลื่อนระยะเวลาให้กับภาคอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในการติดตั้งระบบห้ามล้อแบบ CBS หรือ ABS สำหรับรถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบบติดตั้งเกียร์ธรรมดาที่ได้รับการรับรองแบบจากกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 โดยออกไปอีกสองปีจากเดิมที่ต้องบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ออกไปเป็น 1 มกราคม 2569 ตามข้อเรียกร้องของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
“รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้งานมากถึงร้อยละ 80 ของรถจักรยานยนต์ทั้งหมดในประเทศไทย จึงมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ดังนั้น การบังคับติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) หรือระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) ในรถจักรยานยนต์กลุ่มดังกล่าวทุกรุ่นทุกคัน จึงมีความสำคัญสูงสุดต่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสามารถลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยได้ด้วย” ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ ระบุ
สำหรับเรื่องความเพียงพอของรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น นายคงศักดิ์ ระบุว่า ข้อมูลจากการประชุมร่วมระหว่าง สภาผู้บริโภคและสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พบว่าเมื่อถึงกำหนดการบังคับใช้ตามเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีรถจักรยานยนต์ติดตั้งระบบเบรกที่มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการจัดจำหน่ายจำนวน 1,517,016 ล้านคันซึ่งน่าจะเพียงพอความต้องการใช้ภายในประเทศ ขณะที่จะมีรถจักรยานยนต์อีกประมาณ 275,000 คันที่พัฒนาไม่ทัน และยังเป็นรถที่ใช้ระบบเบรกแบบเกียร์ธรรมดา (Manual Transmission : MT) ซึ่งมองว่ารถจำนวนดังกล่าวมีระยะเวลาที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามประกาศของขนส่งก่อนวางจำหน่ายได้
สภาผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค 33 จังหวัดที่ดำเนินโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อกรมการขนส่งทางบก 2 ข้อดังนี้
1.ขอให้เร่งบังคับใช้ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นทุกคัน โดยไม่มีการขยายระยะเวลาให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต สิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกคน
2.ขอให้ออกประกาศบังคับให้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อหรือ ABS เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์มีขนาดกระบอกสูบเกินกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร เพื่อการมีมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงให้ได้อย่างยั่งยืน